ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองสิ้นปีกำลังใกล้เข้ามา มองไปทางไหนก็รู้สึกได้ถึงความรื่นเริง จนเหมือนกับโลกกำลังมอบของขวัญให้กับเรา แต่เมื่อมองย้อนมาถามตัวเองดูบ้างว่าเราให้อะไรกับโลกบ้าง อาจทำให้อากาศที่เย็นสดชื่น กลายเป็นความเย็นแบบแล้งน้ำใจก็เป็นได้ ปลายปีแบบนี้เรามาเริ่มต้นมอบบางอย่างเพื่อโลกแบบง่าย ๆ กันบ้างดีกว่า แต่จะด้วยวิธีไหนนั้น ตามเรามาดูกิจกรรมดี ๆ บนเกาะเล็ก ๆ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แต่มากด้วยเสน่ห์อย่าง เกาะเสม็ด เพราะทริปนี้เราจะออกเดินทางเพื่อร่วมกับโครงการ “เก็บ” ไทยให้สวยงาม เราจะเก็บภาพสวย ๆ เก็บความฝัน เก็บความหวัง และเก็บเสม็ดอย่างมุ่งมั่น ยื่นมือของแกมาสิ เราจะได้ร่วมกัน “เก็บ” ไทยให้สวยงาม ไปพร้อม ๆ กัน
การเดินทาง “มาหาเสม็ด” ในครั้งนี้ของเราคือการเดินทางร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Earth Appreciation หรือกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติใกล้ตัวฉบับ 101 ที่ถูกจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยโค้ก และเว็บไซต์ The Cloud เพื่อสร้างแรงบันดาลให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าใจปัญหาของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง เสริมสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบไร้ขยะ ให้พวกเขาเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาขยะ พร้อมเรียนรู้คุณค่า รู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืนร่วมกัน นอกจากนั้น ในปี 2562 นี้ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ยังได้ร่วมมือกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดตัวโครงการด้านความยั่งยืนใหม่ล่าสุดอย่าง โครงการ “เก็บ” ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุทยานแห่งชาติในพื้นที่นำร่องจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (เกาะหลีเป๊ะ) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่ดีในการจัดการขยะมูลฝอย อีกด้วย โดยโครงการนี้เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้ง ชุมชน ผู้ประกอบการบนเกาะ นักท่องเที่ยว ตลอดจนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันสร้างการรับรู้ และให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ
Day 1 :: เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 07:00 น. เราก็พร้อมเคลื่อนพลสู่บ้านเพ จังหวัดระยอง เพื่อไปยังท่าเรือที่จะพาพวกเรามุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า–หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง หรือ เกาะเสม็ด เกาะสุดฮิตใกล้กรุงเทพฯ ที่เดินทางสะดวก เที่ยวได้ตลอดทั้งปี เกาะที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งนี้นั้นมีปัญหาขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวที่รุนแรง ที่นี่จึงถูกจัดเป็นหนึ่งในอุทยานในพื้นที่ศึกษาในโครงการ “เก็บ” ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) และการมาเยือนเกาะเสม็ดในครั้งนี้ ซึ่งเราจะเปลี่ยนการเที่ยวแบบเก่า ให้เป็นการเที่ยวแบบใหม่ที่เก๋ไก๋แถมใส่ใจสิ่งแวดล้อม และรื่นรมย์ได้แบบไม่ต้องสร้างขยะ
เมื่อเรือเทียบท่าขาก้าวขึ้นฝั่ง สิ่งแรกที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นก็คือ อาหาร! และแน่นอนว่ามาถึงทะเล ลมพัดเบา ๆ ชายหาดสีขาว มันช่างเชิญชวนให้เราหาส้มตำมานั่งล้อมวงจกข้าวเหนียว จิ้มปลาร้า ดื่มโค้ก กันที่หน้า White Sand Resort หนึ่งในสถานที่จัดกิจกรรมของเราเสียจริง ๆ คิดปุ๊บสั่งปั๊บคนละหมุบคนละหมับ พริบตาเดียวก็อิ่มสบายท้องทั้งคณะ และภารกิจแรกก็เริ่มขึ้นแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
โดยกิจกรรมแรกทีมงานได้เอาเศษอาหารทั้งหมดที่พวกเราทุกคนกินเหลือจานละเล็กละน้อยมาลองชั่งรวมกัน ให้เรารู้ว่าขนาดแค่กลุ่มเล็ก ๆ ของพวกเรากลุ่มเดียวกับอาหารที่เหลืออยู่เพียงนิดหน่อยก็ยังกลายมาเป็นขยะที่มากกว่าที่เราคิดขนาดนี้ และถ้าในระดับโรงแรม และร้านอาหาร มันจะมากขนาดไหน และกำจัดอย่างไรกันนะ?? ซึ่งนี่ก็คือโจทย์สำหรับผู้ประกอบการ
เมื่อเกิดคำถามก็ต้องออกเดินทางเพื่อหาคำตอบ แต่เราก็ไม่ต้องไปไหนไกล เพราะคำตอบอยู่ด้านหลังเรานี้แล้ว เราหันกลับไปยัง White Sand Resort เพื่อพูดคุยกับพี่หนู (จันทร์จิรา สังข์สุวรรณ) ผู้จัดการของ White Sand Resort ผู้ที่ได้สร้างระบบของการจัดการขยะที่เกิดจากเศษอาหารไว้อย่างน่าสนใจและทำได้จริง โดยตัวอย่างที่พี่หนูทำให้พวกเราดูก็คือการนำเปลือกไข่ไปเข้าเครื่องบดให้ละเอียด และนำไปทำปุ๋ยให้ต้นไม้ ส่วนเศษอาหารจำพวกน้ำพี่หนูก็จะนำไปหมักเป็นปุ๋ยน้ำ และนำต่อท่อสปริงเกอร์ผสมน้ำเพื่อรดน้ำต้นไม้รอบ ๆ รีสอร์ท เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะทั้งกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี และยังได้ปุ๋ยธรรมชาติมาแบบฟรี ๆ ด้วย ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือนได้ด้วย
เวลาดีที่แดดกำลังคล้อยลงแบบสวย ๆ พวกเราก็ออกเดินทางไปจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ ชมความงดงามของทะเลในหน้าหนาวกันต่อที่ อ่าวน้อยหน่า หาดทรายที่ขึ้นชื่อว่ามีหาดทรายสวย ละเอียด และนุ่มที่สุดหาดหนึ่งของหมู่เกาะเสม็ด ซึ่งความละมุนนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย หรือธรรมชาติรังสรรค์ แต่ยังเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของเหล่าผู้ประกอบการที่อยู่บนหาดนี้ ที่จัดให้มีการร่อนทรายทุกวันทั้งช่วงเช้า และเย็น เพื่อเป็นการกรองเศษหิน และทรายเม็ดใหญ่ ๆ รวมถึงขยะชิ้นเล็ก ๆ ให้เหลือไว้แต่ทรายที่อ่อนนุ่ม และเป็นมิตรกับเท้าทุกคู่ที่เดินทางมาบนหาดทรายนี้ ซึ่งการร่อนทรายที่อ่าวน้อยหน่านี้ ริเริ่มโดยผู้ประกอบการหมู่บ้านทะเล รีสอร์ท ที่อยากให้หาดทรายหน้าที่พักของตนนั้นขาวสะอาด นักท่องเที่ยวมาก็หลงรัก และมันก็ทำให้เราตกหลุมรักได้จริง ๆ
ข้าง ๆ โรงแรมนี้ มีค่าเฟ่ เก๋ ๆ ชื่อว่า Love Island Café คาเฟ่สไตล์กระท่อมน้อยกลางทะเลที่มีสีสันสดใสดึงดูดสายตา แม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ เพียงชั้นเดียว แต่ก็ให้ความรู้สึกโล่งโปร่งสบาย เราจึงไม่พลาดที่จะสั่งเครื่องดื่มเย็น ๆ มานั่งพัก นั่งชิว ให้หายร้อนหายเหนื่อย (จากการแอบไปช่วยพี่ ๆ พนักงานโรงแรมร่อนทรายมา 5555) นั่งเล่นไปก็เอาเท้าขยี้ทรายไปเรื่อย ๆ ยิ่งรู้สึกนึกขอบคุณไอเดียอันบรรเจิดที่ทำให้เกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจขนาดนี้ขึ้นได้
ดื่มด่ำความเย็นสดชื่นของอิตาเลียนโซดา เราก็พอมีแรงออกเดินทางต่อไปยัง อ่าวหวาย อีกหนึ่งหาดทรายที่ขาวสวยไม่แพ้หาดอื่น ๆ บนเกาะ โชคดีที่ที่นี่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าหาดอื่น ๆ และด้วยการจัดการที่ดีของโรงแรมรอบ ๆ บริเวณอ่าวนี้ เราจึงไม่ค่อยได้เห็นขยะมากมายนัก เราจึงมีเวลาได้นั่งชิว ๆ แบบส่วนตัว ใช้เวลาคุณภาพกับลิสต์เพลงโปรด พร้อมพิจารณาพื้นน้ำที่นิ่งสงบ และท้องฟ้าที่ไร้เมฆ กับแสงแดดอ่อน ๆ จนเกือบจะลืมเวลา
พอเย็นย่ำใกล้ค่ำ แสงสีส้มก็เริ่มทอแสงกระจายไปทั่ว พวกเรารีบเดินทางมุ่งหน้าไปยังจุดชมวิวท้ายเกาะเสม็ด อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์ เพราะเมื่อเดินทางมาที่นี่แล้วเดินออกไปบริเวณแหลมที่ยื่นออกไปกลางทะเล แล้วเลี้ยวไปทางซ้าย เส้นทางจะพาเราไปสู่จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น แต่หากเลี้ยวไปทางขวาเส้นทางจะพาเราไปยังจุดชมพระอาทิตย์ตก นั่นหมายความว่านี่คือแหลมที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกในที่เดียว โดยมีวิวทะเลที่สวยปานจะกลืนกินแบบ 180 องศาเป็นฉากหลัง ซึ่งไม่ทันไรพระอาทิตย์ก้อนกลมก็ทิ้งตัวลงกลางทะเล เหลือทิ้งไว้เพียงความเงียบสงบของรัตติกาล
หลังจากที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า พวกเราก็กลับมายังที่พักในค่ำคืนนี้ที่ Avatara โรงแรมวิวเขาที่มีห้องสวย ๆ ให้ได้พักผ่อนกันอย่างสะดวกสบาย สะอาดสะอ้าน หลับสนิทได้ตลอดทั้งคืน แต่ก่อนที่จะล้มตัวลงนอน และเข้าสู่ความฝันอันแสนหวาน เราก็ขออนุญาตไปทานมื้อเย็นพร้อม ๆ กับรับชมการโชว์ควงไฟเพื่อเพิ่มสีสันให้กับคืนนี้กันสักนิด
แล้ววันแรกของพวกเราก็ปิดท้ายด้วยการตั้งวง “เล่า” เรื่องราวที่เราได้เรียนรู้ในวันนี้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทัศนคติ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ร่วมกันอย่างออกรสออกชาติ สไตล์คนรุ่นใหม่หัวใจรักธรรมชาติ ซึ่งนอกจากพวกเราแล้วก็ยังมี พี่นุ่น ศิรพันธ์ และพี่ท๊อป พิพัฒน์ มาร่วมตั้งวงร่วมกับพวกเราอีกด้วย
Day 2 :: เช้าวันที่สอง … เราตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกที่สดชื่น และพร้อมเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะได้รับในวันนี้ โดยไม่ลืมที่จะใส่เสื้อทีม “มาหาเสม็ด” ที่นอกจากจะมีสีสันน่ารักสดใสแล้ว ยังซ่อนทีเด็ดไว้อีก คือเสื้อทุกตัวที่เรากำลังใส่ และเห็นอยู่นี้ล้วนผลิตด้วยเทคโนโลยี MOU หรือการนำเศษผ้าจากโรงงานที่เหลือทิ้ง มาผลิตเป็นเสื้อใหม่ เพื่อส่งเสริมการลดขยะ และนำสิ่งที่กำลังจะถูกทิ้งกลับมาพัฒนาใช้ใหม่นั่นเอง โอ้โห!! เรียกว่าสวยแบบช่วยชุมชนได้เลย
มาทะเลถ้าไม่ได้ลงไปสัมผัสทะเลมันก็คงจะเหมือนมาไม่ถึงทะเลน่ะสิ ช่วงเช้าของวันนี้พวกเราเลยไปออกเกาะ ดำน้ำตื้น สำรวจโลกใต้ทะเลที่นอกจากเราจะได้เห็นความสวยงามอันน่าทึ่งของทะเลไทยที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ และระบบนิเวศอันสวยงามแล้ว เราก็ยังได้เห็นสิ่งแปลกปลอมที่มีชื่อว่าขยะปนอยู่ในท้องทะเลจำนวนมาก ทำให้เพียงเวลาแค่ไม่นาน พวกเราที่ช่วยกันคนละไม้ละมือ ก็สามารถนำขยะกองโตกลับมาไว้บนบก เพื่อที่จะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไปได้มากกว่าที่คิด จุดนี้เลยมีทั้งความดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการ “เก็บ” แต่ก็แอบเสียใจที่ตัวเราเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ทิ้ง” แบบไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน
ดำน้ำเสร็จร่างกายก็เรียกร้องหาอาหารทันที และมื้อเที่ยงวันนี้พวกเราก็ได้มีโอกาสมานั่งทานกันที่ริมชายหาดของอ่าวกลาง อีกหนึ่งหาดที่สวยใสไม่แพ้หาดไหนในเสม็ด ที่มีเมนูเด็ดแบบพื้นบ้านรอต้อนรับพวกเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหมูชะมวง ปลาหมึกต้มเค็ม กุ้งย่าง และปลาทูราดพริก แบบกินกันกลางหาดทรายใกล้ทะเลแบบสุด ๆ แน่นอนพวกเราใช้จานกระเบื้อง และช้อนสแตนเลส งดใช้โฟม รวมถึงพลาสติก เพื่อลดปัญหาการสร้างขยะด้วยนะ แม้จะลำบากเพราะต้องทั้งล้างและจัดเก็บ แต่ก็คุ้มค่ากว่าการใช้พลาสติกหลายเท่านัก
หลังจากอิ่มท้องเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาที่พวกเราจะจับกลุ่มคุย จับเข่าฟัง ถึงปัญหาขยะที่เราได้พบเจอในทะเล ไม่ว่าจะเป็นบนชายหาด หรือตอนดำน้ำ ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าขยะมากมายที่เราเห็นอยู่นี้ ไม่ได้มาจากเพียงคนบนเกาะทิ้งลงทะเล หรือคนบนเรือทิ้งลงทะเล แต่มันมาจากไหนก็ไม่รู้ มาตามสายน้ำ มาตามคลื่น มาตามความมักง่ายของคนบนโลกรวมถึงตัวเรา แล้วจึงได้เรียนรู้เรื่องขยะใกล้มือ จากคุณ Daniela Scandella-Chanchote เจ้าของร้าน SoLUTion Refill@Station ที่มาสอนวิธีการแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกต้อง โดยสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยตัวเราเอง เช่น การพกถุงผ้าไปตลาดเพื่อลดการรับถุงพลาสติก การเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล ไปจนถึงการเอาถุงพลาสติกมายัดในขวดพาลสติกแบบแน่น ๆ เพื่อทำเป็น ECO BRICKS แทนอิฐบล็อก ปิดท้ายด้วยการพูดคุยต่อกับคุณ ไพบลูย์ คุ้มคํา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไพบลูย์ระยอง จํากัด บริษัทกำจัดขยะในเกาะเสม็ด ที่มาเล่าถึงกระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ ในการนำขยะออกจากเกาะอย่างถูกวิธี
ปิดท้ายวันนี้ด้วยมื้อเย็นสุดพิเศษแบบเชฟเทเบิ้ล จากเชฟแบล็ค ภานุภน บุลสุวรรณ ที่ตั้งใจเสิร์ฟอาหารที่ได้แนวคิดเชื่อมโยงจากเรื่องราวของขยะที่เกิดขึ้นในท้องทะเล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเชฟจะเอาขยะมาให้เรากินนะ แต่เชฟทำให้เรารู้ว่าขยะต่าง ๆ ก็ล้วนเคยเป็นของดีมาก่อน แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราเคยต้องการมาก่อนทั้งนั้น แต่เมื่อเราดูแลมันไม่ดี และใช้เกินกว่าที่ต้องการ พวกมันก็จะกลายไปเป็นขยะที่กลับมาทำร้ายโลกของเรานั่นล่ะ
Day3 :: วันสุดท้ายของการเดินทาง พวกเราเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม และเดินทางไปยังห้องประชุมของอุทยาน เพื่อล้อมวงพูดคุยเรื่องราวของการแก้ปัญหาขยะ และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ โดยผู้ร่วมทริปทุกคนได้เสนอแนวทางความคิดเห็นของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม จนได้ออกมาเป็นข้อสรุปจากความคิดของพวกเราว่า การจะแก้ไขปัญหาขยะในทะเลได้นั้นเราต้องเริ่มกันตั้งแต่ระดับบุคคล ซึ่งก็หมายถึงตัวของเราเอง ชาวบ้าน ชาวประมง และระดับมหภาค คือ ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล โอ้โหหหห!!! ฟังมาถึงตรงนี้แล้วอย่าพึ่งตกใจว่า โห นี่เราต้องรอให้เรื่องถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก่อนเลยมั้ยถึงจะแก้ได้ เพราะสิ่งที่ยากมันสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราแบบง๊ายง่ายกว่าที่คิด ไม่ต้องถึงกับเก็บตัวในบ้าน ห้ามใช้ ห้ามทิ้ง แค่เพียงออกเดินทางตามปกติ แต่ทิ้งให้น้อยลง ใช้ให้น้อยหน่อย รียูสให้มากขึ้น เพียงเท่านี้การเที่ยวแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราแล้ว
สิ้นสุดการเดินทางของทริป 3 วัน 2 คืน ที่เกาะเสม็ดครั้งนี้ แต่เรายังเดินทางกันไม่สิ้นสุด เพราะหลังจากนี้พวกเรายังต้องนำสิ่งที่ได้เห็น ได้เรียนรู้ “เก็บ” กลับไปทำ ไปต่อยอด ไปเผยแพร่ เพื่อให้เมืองไทย และให้โลกของเรายังคงความสวยงามไว้ให้มากที่สุด หากเราไม่เริ่มวันนี้ จากจุดเล็ก ๆ ที่ตัวเรา โลกคงไม่มีเวลาให้เราได้แก้ตัวนานนัก เอาล่ะ ยื่นมือของแกออกไป “เก็บ” เมืองไทยให้สวยงามกันเถอะ