TCP SPIRIT : พยาบาลลุ่มน้ำ ” ครั้งที่ 1 จังหวัดน่าน “

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรานี้ช่างอุดมสมบูรณ์
เชื่อว่าชีวิตของเราทุกคนล้วนผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่เกิด

สายน้ำใสไหลเย็นที่เราเห็นอยู่ทุกวัน จะเป็นยังไงหากวันหนึ่งน้ำทุกหยดที่เราดื่มถูกปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ข้าวทุกเมล็ดถูกรดด้วยสารปนเปื้อน ปลาทุกตัวเต็มไปด้วยไมโครพลาสติก ฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูฝน เราจะมีคุณภาพชีวิตแบบไหน??? เรื่องนี้ใกล้ตัวเราขึ้นมาทุกวัน อย่าคิดว่าเราผู้อยู่ปลายน้ำจะรอดพ้นจากปัญหาที่เกิดตั้งแต่ต้นน้ำ ดังนั้นทริปนี้คนปลายน้ำอย่างเราเลยได้รวมตัวกัน เพื่อออกเดินทางไปทำความเข้าใจปัญหาลุ่มน้ำไทยกันถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำ และเรียนรู้วิธีเก็บน้ำที่คนเมืองจะสามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้เพื่อดูแลแหล่งน้ำใกล้ตัว ที่หน่วยจัดการต้นน้ำสบสายและชุมชนต้นน้ำน่าน จังหวัดน่าน และการเดินทางครั้งนี้ของเราจะเปลี่ยนมุมมองต่อสายน้ำจากผู้รับเป็นผู้ให้แก่ธรรมชาติกันบ้าง ส่งมือของแกมาทางนี้เราจะพาพวกแกออกเดินทางไปพร้อมกับกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ได้ชวนคนรุ่นใหม่อย่างเรา ๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นด้วยกัน

อย่างที่บอกทริปนี้การเข้าป่าของเราไม่ใช่การมาเที่ยวในแบบเดิม ๆ แต่เป็นการมาเข้าเรียนในคณะใหม่ที่มีชื่อว่า “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำศาสตร์” ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค ได้ชวนเหล่าอาสามาลงเรียนร่วมกับธรรมชาติ ที่มีวิชาเอกคือการดูแลลุ่มน้ำ และวิชาโทคือหลักการฟื้นฟูด้วยวัฏจักรธรรมชาติ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติต้นน้ำน่าน เพื่อเรียนรู้การทำประโยชน์ให้กับตัวเราและโลกของเรา โดยมี อเล็กซ์ เรนเดล TCP Spirit Ambassador ร่วมเดินทางไปเรียนรู้ด้วยกันเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะยาว “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย”  ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน เหล่าอาสาคนรุ่นใหม่จากปลายน้ำเดินทางย้อนสายน้ำกลับมาที่ต้นน้ำสบสาย ในอำเภอท่าวังผาจังหวัดน่าน พื้นที่ซึ่งในอดีตเคยประสบปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่าต้นน้ำ จนน้ำแห้ง ต้นไม้หายกลายเป็นภูเขาหัวโล้น และพบสารเคมีจากการเกษตรปนเปื้อนในแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก เพื่อมาเห็นการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่จริง รู้จักวิธีการดูแลลุ่มน้ำ และมีความรู้เรื่องการเก็บน้ำสำรองใช้

หลังจากเดินทางฝ่าฝุ่นมาจนถึงผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เราก็เริ่มกิจกรรมแรกด้วยการละลายพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน เพื่อนให้นักเรียนอาสาจากทั่วสารทิศได้รู้จักกันมากขึ้น คุ้นเคยกันมากขึ้น เพราะ 2 วัน 1 คืน ต่อจากนี้ พวกเราต้องศึกษา ค้นคว้า และทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของวิชาพยาบาลลุ่มน้ำศาสตร์ไปด้วยกัน และหลังจากล้อมวงละลายจนพฤติกรรมจนเริ่มจะเข้ากันดี ก็ได้เวลาที่เราจะรับประทานอาหารมื้อแรกพร้อมกัน ซึ่งก็คือข้าวเหนียวหมูทอดที่ทั้งอร่อยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม พออิ่มท้องปุ๊บจะได้พร้อมเรียนปั๊บ

ในเมื่อเรามาเพื่อพยาบาลลุ่มน้ำ สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ก่อนก็คือลุ่มน้ำที่ใกล้ตัวเรานั้นมีสถานะเป็นอย่างไร สุขภาพดีไหม ต้องการการดูแลอยู่หรือเปล่า และสิบปากว่าหรือจะเท่าหนึ่งตาเห็น พวกเราเลยตั้งแถวเดินเรียงเข้าไปในป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติกันด้วยสองมือ สองเท้า และสองตาของพวกเราเอง ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้ทาง TCP Spirit ไม่ได้พาคนไปปลูกป่าหรือเปลี่ยนแปลงสภาพป่า แต่เป็นการเดินป่าอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบระบบนิเวศ โดยทำภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นนั่นก็คือหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย โดยการเดินป่าครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นวิธีการปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ซึ่งเป็นการแก้ไขป่าด้วยป่าปลูก ที่มีหลักการสามอย่างคือปลูกพืชที่กินได้ ปลูกพืชที่นำมาใช้งานได้ และปลูกพืชที่นำมาสร้างที่อยู่อาศัยได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สี่อย่างคือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น อันเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การปลูกป่า แต่ยังสามารถปรับใช้ได้กับที่ดิน ที่นา สวน หรือแม้แต่พื้นที่ภายในรั้วบ้านก็สามารถปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ลืมที่จะชักชวนชาวบ้านให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำด้วยกันด้วย

ระหว่างทางที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติผ่านต้นไม้สูงใหญ่ ผ่านต้นหญ้าที่เขียวขจี และผ่านเสียงนกร้อง เราแทบไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือพื้นที่ ๆ เคยเป็นภูเขาหัวโล้น และขาดการจัดการลุ่มน้ำที่ถูกวิธีมาก่อน ทำให้ตลอดระยะทางไปกลับกว่า 4 กิโลเมตรของเราในครั้งนี้ เราได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนสัมผัสกับธรรมชาติและสัมผัสกับความสุขที่ได้รับจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะ สัมผัสทางตา – เราจะได้เห็นต้นไม้นานาชนิด ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก แต่ถึงจะไม่รู้จัก เราก็มีหัวหน้าทีมและเพื่อน ๆ คอยแบ่งความรู้ให้กับเราเต็มไปหมด ทำให้รู้เลยว่าโลกเรากว้างใหญ่ขนาดไหนเมื่อได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สัมผัสทางหู – ถ้าเราเงียบ เราจะได้ยินเสียงอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเสียงแมลงต่าง ๆ เสียงของน้ำไหล เสียงลมที่พัดใบไม้ เสียงปลากระโดด เสียงนกร้อง ประสานกันเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ นี่คงเป็นวงออเครสตร้าแห่งผืนป่า สัมผัสทางกลิ่น – เนื่องจากวันนั้นฝนตกตลอดทาง ทำให้เราได้กลิ่นฝน กลิ่นดิน กลิ่นต้นไม้ชัดขึ้น บอกเลยว่าอยู่กรุงเทพไม่มีทางได้สูดอากาศหายใจได้เต็มปอดแบบนี้ จนแทบอย่างแพ็คใส่กระเป๋าเอากลับมาสูดหายใจต่อที่ที่เมืองเทพสร้างแบบสุด ๆ

เมื่อเดินทางถึงลำธารที่เป็นห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยเรียน เราพร้อมควักอุปกรณ์ที่ไม่ใช่กระดาษกับปากกา แต่เป็นแว่นขยายขนาด x10 กระชอนละเอียด กะละมังสีขาว ถ้วยพลาสติก ช้อนพลาสติก และพู่กันเล็ก ๆ เตรียมอุปกรณ์พร้อม เราก็เริ่มทำทีละขั้นตอนโดยเริ่มจาก 1. ตักน้ำจากลำธารใส่กะละมัง 2. ใช้กระชอนพุ้ยน้ำขึ้นมา 2-3 ครั้ง เพื่อให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ ซึ่งเรายังมองไม่เห็นในตอนนี้ลอยแล้วตักขึ้นมา 3. เอาน้ำที่เราพุ้ยเมื่อครู่ใส่ถ้วยพลาสติก และ 4.ใช้แว่นขยายส่องดูว่าน้ำที่นี่สุขภาพดีหรือไม่ วิธีการสังเกตอย่างง่ายคือถ้าไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลยแสดงว่ามีสารปนเปื้อนแน่นอน ส่วนที่นี่น่ะหรอ มีแมลงตัวเล็ก ๆ อยู่เต็มเลยล่ะ ซึ่งเป็นเครื่องการันตีได้ในขั้นหนึ่งแล้วว่าลุ่มน้ำแห่งนี้ยังสุขภาพแข็งแรงดี และก่อนจะเดินกลับออกมาเราก็ตักตัวอย่างน้ำใส่ขวดเพื่อนำมาบันทึกอีกรอบด้วย ทำให้เราเรียนรู้ว่าโดยธรรมชาติน้ำจะไม่มีสี สีน้ำที่เราเห็นนั้นคืออาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในน้ำ ดังนั้นน้ำที่มีสีก็ไม่ได้หมายความว่าจะสกปรกเสมอไป และน้ำใสก็ไม่ได้แปลว่าสะอาดเหมือนกัน เราต้องเอามาดูหลาย ๆ อย่างนะจ๊ะ

พอเสร็จกิจกรรมในช่วงเช้า … ก็ถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน อาหารที่นี่ทุกอย่างล้วนทำจากวัตถุดิบที่ชาวบ้านเลี้ยงและปลูกกันเองล้วน ๆ ไม่ว่าจะผักหลากชนิด ทั้งผักริมรั้ว ผักหัว ผักยอด ผลไม้รสหวานฉ่ำไร้สารเคมี ปลาตัวอ้วนเนื้อแน่นตาใส งานนี้เค้าอวดคนกรุงกันใหญ่เลยนะ ว่ามีผักผลไม้กินวันละหลายกิโลฯ ไม่ต้องไปซื้อใครเลย แถมมีกินตลอดปีด้วย ยังไงชีวิตนี้ก็ไม่อดตายหรอก เนี่ย!!! ชีวิตคนที่นี่เค้ามีความสุขด้วยตัวเองกันจริง ๆ อิจฉาแล้ว!! เพราะคนกรุงอย่างเราข้าวสามมื้อถ้าไม่ใช่พ่อแม่เตรียมไว้ให้ก็ไม่มีมื้อไหนฟรี!!!

เมื่อท้องอิ่ม เราก็พร้อมเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำ และจัดการที่ดินในพื้นที่ชุมชนต้นน้ำน่านตามวิถีคนลุ่นน้ำน่านกันต่อ โดยได้รับเกียรติจากคุณกุล ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ที่ได้พาเราย้อนไปในอดีตที่ที่นี่เคยมีปัญหาดินและน้ำปนเปื้อนสารเคมีจากการเกษตร แต่ปัจจุบันได้พลิกฟื้นพื้นที่กว่า 50 ไร่ให้สามารถทำเกษตรอินทรีย์และพึ่งพาตัวเองได้ทั้งด้านการจัดการน้ำและการสร้างอาหาร โดยเราจะได้เรียนรู้วิธีการเก็บน้ำจากฟ้า (Rainwater Harvesting) ดูปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาที่ทุกคนสามารถนำกลับไปปรับใช้ได้กับวิถีชีวิตของตัวเอง

เริ่มแรกพวกเราก็ได้ร่วมกันวางแผนการทำงาน ก่อนจะแบ่งทีมว่าทีมไหนจะเรียนรู้เรื่องอะไร โดยทีมที่ 1 เรียนรู้เรื่องการขุดหนองน้ำเลียนแบบธรรมชาติ ทีม 2 เรียนรู้เรื่องการขุดคลองไส้ไก่ และทีม 3 เรียนวิธีการทำแท็งค์น้ำไม้ไผ่ ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ ที่จะได้เรียนรู้ เป็นการแนะนำเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ส่วนตัว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำการเพาะปลูก หรือคนเมืองที่มองเห็นโอกาสในการเก็บน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราจะได้ลองทำก็อยู่ในพื้นที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ของเอกชน ไม่ใช่ทำในพื้นที่ป่า หลังจากรู้หน้าที่ของตัวเองเรียบร้อย ทางเราก็ลงพื้นที่จริงไปดูสิ่งที่จะได้เรียนรู้และลงมือในวันพรุ่งนี้ ก็เป็นอันจบในส่วนวันนี้ เพื่อเราจะได้กลับไปนอนให้เต็มอิ่มแล้วตื่นมาลงมือทำกันอย่างแข็งขันในรุ่งเช้า

คืนนี้เราพักผ่อนกันที่ ฮักปัว จ.น่าน ที่พักสวย ๆ ที่เราจะได้นอนสูดออกซิเจนกันให้เต็มปอด สัมผัสอากาศที่ยากจะหาได้ในเมืองกรุงฯ เป็นค่ำคืนแห่งการทรีทเม้นท์ด้วยธรรมชาติ แต่ก่อนที่จะเข้าห้องพักผ่อน เราก็ได้ร่วมกิจกรรมสันทนาการกันนิดหน่อย เพื่อเรียบเรียงสิ่งที่เราพบเจอและเรียนรู้ในวันนี้กันแบบสนุกสนาน ค่ำคืนนี้จึงเป็นคืนที่แสนสบายแต่ยากจะหลับตาได้ลงแม้จะเหนื่อยมาทั้งวัน เพราะป่าได้ปลุกจิตวิญญานบางอย่างของเราให้ตื่นขึ้น รับรู้ถึงสถานการณ์อันตรายที่มาประชิดตัวจากภาวะที่โลกเต็มไปด้วยมลภาวะ แต่ก็ปลอบโยนเราผ่านการเรียนรู้ ว่าวันนี้ยังไม่สายเกินไปที่เราจะลงมือร่วมแรงร่วมใจกอบกู้สถานการณ์ต้นน้ำให้อยู่ยั่งยืนต่อไป ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเอง

เช้าวันที่สองของการเรียนคณะพยาบาลลุ่มน้ำศาสตร์ ทุกคนตื่นนอนกันมาอย่างหน้าตาสดใส ท่าทางไฟแรงและตื่นเต้นกับการที่จะได้ลงมือแก้ไขจริงกันทุกคน วันนี้จึงเริ่มด้วยการประชุมวางแผนกับพี่กุล (แม่ทัพใหญ่ของชุมชนต้นน้ำน่าน) แบ่งกลุ่มตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แล้วก็ไม่ปล่อยให้เวลาเสียไป ทุกคนพร้อมลุย!!!! เพราะสิ่งที่เราทำกันจะช่วยให้ชุมชนสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องกลัวหน้าแล้ง ไม่ต้องกลัวหน้าฝน และไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก เพราะเราเรียนรู้ที่จะออกแบบชุมชนให้พร้อมเจอทุกสถานการณ์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงเรียนรู้ที่จะหาทางแก้เมื่อเกิดปัญหาเท่านั้น เรียกว่าเป็นการทำงานแบบบูรณาการที่ยั่งยืน ช่วยเหลือเค้าเพื่อให้เค้าช่วยเหลือตนเองได้

จุดเรียนที่ 1 วิธีทำหนองปลาโตไว หรือการขุดหนองน้ำเลียนแบบหนองน้ำตามธรรมชาติ เพื่อช่วยให้พื้นที่บริเวณนี้มีความสามารถในการเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยแต่ละช่วงของหนองน้ำจะถูกทำให้มีระดับชั้นความตื้นลึกที่แตกต่างกันไปเหมือนหนองจริง ๆ เพื่อให้แสงแดดส่องถึง จะได้เป็นที่อยู่ให้กับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาหร่าย ผักบางชนิด และปลา ทำให้เราเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องแสวงหาวิธีหรือเครื่องมือศิวิไลซ์มาจากไหน เพราะในธรรมชาติมีภูมิปัญญาให้เราได้เรียนรู้กันอยู่แล้ว

จุดเรียนรู้ที่ 2 การทำแซนด์วิชปลา หรือการสร้างอาหารอินทรีย์ให้ปลาในบ่อได้มีกินเพียงพอ เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงปลา โดยเราจะใช้ไม้ไผ่สานเป็นทรงกลมแล้วปักลงไปในบ่อ ตามด้วยเอาฟางใส่ลงไปในน้ำ กดฟางให้จม จากนั้นโรยปุ๋ยคอก ใส่ฟางสลับกับขี้วัวทับไปสัก 3-4 ชั้น พอทิ้งไว้ 3-7 วัน ก็จะได้ไรแดง แพลงก์ตอน เป็นอาหารให้ปลาตามธรรมชาติที่ทั้งออแกนิกและมีต้นทุนต่ำมาก ๆ แต่กลับได้ผลผลิตเป็นปลาหลากสายพันธุ์ตัวอ้วน เนื้อแน่น และไร้สารเคมี

จุดเรียนรู้ที่ 3 การทำคลองไส้ไก่ หรือการขุดให้คลองเล็ก ๆ ทั่วพื้นที่ โดยคลองเหล่านั้นจะต้องเชื่อมถึงกันทั้งหมด เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันในหนองใหญ่ที่ขุดรอไว้ นอกจากจะช่วยกักเก็บน้ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นดินและยังกระจายความชุ่มชื่นไปยังพื้นที่รอบ ๆ คลองไส้ไก่ อีกทั้งยังช่วยชะลอการไหลซึมของน้ำลงสู่ชั้นดิน ทำให้น้ำฝนไหลลงบ่อหรือหนองน้ำที่ขุดไว้ได้ง่ายขึ้น พืช ผัก และต้นไม้บริเวณนั้นมีน้ำหล่อเลี้ยงและเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เจ้าของพื้นที่ก็ยังมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นกไป 12 เดือนเลย

จุดเรียนรู้ที่ 4 การปลูกหญ้าแฝก หญ้าที่มีอรรถประโยชน์ต่อดินเป็นอย่างสูง เพราะสามารถช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้หน้าดิน ป้องกันการชะล้างหน้าดินปรับปรุงโครงสร้างของดิน แล้วยังช่วยฟื้นฟูสรรพยากรดิน ทั้งเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุ ความชื้นและอัตราการระบายน้ำและอากาศ ทำให้ดินที่อ่อนแอกลับมาแข็งแรง ลดการพังทลายของหน้าดิน เป็นการใช้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ

จุดเรียนรู้ที่ 5 เป็นการสร้างแท็งก์น้ำไม้ไผ่ เครื่องมือที่เก็บน้ำได้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะโครงด้านในทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ตามท้องถิ่น ผสมผสานกับภูมิปัญญาการทำโอ่งของชาวบ้าน ด้านล่างทำระบบท่อน้ำแรงดันสูงไว้ใช้ในครัวเรือน สำหรับใช้เก็บน้ำฝนในฤดูฝนเอาไว้ใช้ในยามแล้ง  ข้อดีคือทำวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นภาคเหนือ และเพียงโบกปูนทับอีกชั้นก็มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น ทำง่าย ใช้ต้นทุนในการสร้างและบำรุงรักษาต่ำกว่าแท็งก์น้ำสำเร็จรูป ประหยัดและคุ้ม พื้นที่ไหนก็ทำได้

หลังจากจบกิจกรรมช่วงเช้า ก็ถึงเวลาที่ทุกคนจะทำธีสิสจบ ด้วยการสรุปกิจกรรมที่ได้แยกย้ายกันไปทำ เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น และความรู้สึก หลังจากได้ลงพื้นที่จริง ศึกษาจริง และมีส่วนร่วมทำจริง ๆ ซึ่งก่อนทำเรารู้สึกได้ถึงความร้อนแรงในการอยากเรียนรู้ โดยหลังจากเรียนรู้แล้ว เรารู้สึกว่าไฟของทุกคนลุกท่วมมากกว่าก่อนทำหลายเท่า เราได้ยินน้ำเสียงหนักแน่นที่สัญญาว่าจะช่วยกันดูแลแหล่งน้ำใกล้ตัว ได้ฟังแนวทางที่พร้อมจะลุกขึ้นปฏิบัติ ได้เห็นความคิดใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ปลายน้ำที่คิดย้อนมาไกลถึงต้นน้ำ ทุกคนไม่ว่าจะเหล่านักเรียนอาสา เหล่าคุณครู เหล่าคนจัดกิจกรรม เราทุกคนล้วนได้รับมากเกินกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก และได้รู้มากกว่าที่เคยรู้มาตลอดชีวิต ถึงเราโอบกอดสายน้ำเพื่อแสดงความรักแบบคนไม่ได้ แต่พวกเราก็สามารถแสดงความรักด้วยการปกป้องสายน้ำได้โดยเริ่มจากตัวเราเอง

ก่อนกลับเราก็ยังมีเวลาเหลืออีกนิดหน่อย เพื่อเลือกสินค้าท้องถิ่นที่ผลิตจากคนท้องถิ่นด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น ทั้งครีมนวดผม ยาสระผม สบู่ น้ำมันเขียว ทุกอย่างผลิตแบบบ้าน ๆ แต่คุณภาพออแกนิค ที่สำคัญราคาไม่แพง แต่คุ้มเกินคุ้ม บอกเลยว่าเราหิ้วกลับมาอย่างละชิ้นสองชิ้นเพราะอยากมีของดี ๆ ไว้ใช้เอง และเอาของดี ๆ กลับไปฝากคนที่เรารัก งานนี้คนขายสุขใจคนใช้ปลอดภัย วิน ๆ ทั้งสองฝ่าย

จริง ๆ มีอีกหลายอย่างให้พวกเราได้เรียนรู้และได้ลงมือทำ แต่ด้วยระยะเวลาที่มีเพียงแค่ 2 วัน จึงทำให้เราเรียนรู้ได้เพียงเสี้ยวเดียวของกระบวนการรักษ์น้ำ เอาจริงถ้ามีโอกาสได้กลับมาทำเพื่อชุมชนและทุกคนอีก เราก็จะกลับมานะ เพราะเรารู้แล้วว่าเรื่องของน้ำ มันสำคัญจริง ๆ และมันก็วิกฤตแล้วจริง ๆ แต่เราทุกคนยังมีโอกาสอยู่นะที่จะฟื้นฟูเขาหัวโล้นที่มีแต่ทรายให้มันกลับมาเขียวชอุ่ม ฟื้นฟูชุมชนที่เงียบเหงาให้กลับมามีอาชีพทำมาหากินได้ ปรับดินที่มีแต่เคมีให้กลับมาแข็งแรงและทรงคุณค่า โดยเริ่มต้นได้จากคน ๆ เดียวซึ่งไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เราเองนี่ล่ะ โดยมีชุมชนนี้เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ทำให้เราได้เห็นการเดินตามรอยหลักเศรษฐกิจพอเพียงแบบเป็นรูปธรรม เห็นวิถีชีวิตที่ “พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น” เรื่องราวที่เหมือนกับจินตนาการเหล่านี้ หากเราลงมือทำและเรียนรู้มันก็ไม่ได้ไกลตัวอีกต่อไปนะ มาสานต่อกิจกรรมดี ๆ เหล่านี้ แล้วบอกต่อคนอื่น ๆ ด้วยกันเถอะ : )