อินเดียสไตล์ยุโรปรอบนี้ เราอยากชวนทุกคนแต่งตัวชิค ๆ แล้วมาเดินเฉิดฉายกันที่ Kolkata อดีตเมืองหลวงมากเสน่ห์เจ้าของสมญานาม “The City Of Joy”
ภาพคุ้นตาของแท็กซี่สีเหลืองบนสะพานเหล็กอันยิ่งใหญ่ บรรยากาศความจอแจในตลาดดอกไม้สีฉูดฉาด รวมถึงสถาปัตยกรรมงดงามโอ่โถงสไตล์ผู้ดีอังกฤษ คือส่วนประกอบหลักที่ทำให้เรากลับมาเยือนอินเดียอีกครั้ง ณ “โกลกาตา” เมืองทางตอนแห่งรัฐเบงกอลตะวันตก ที่จะทำให้ทริป 3 วันของเราครั้งนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตและท่วงทำนองอันน่าหลงใหลของพหุวัฒนธรรมที่ผนวกรวมกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน อาหาร ความเชื่อ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างที่หันไปทางไหนก็เจอแต่อาคารโคโลเนียลผสานความโมกุลอยู่เนือง ๆ ส่วนจะม่วนจะจอยแค่ไหนเลื่อนตามมาดูกันได้เลย
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยแบบเรา ๆ วีซ่าอินเดีย ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนเริ่มเดินทางที่ไม่พูดถึงเลยก็คงไม่ได้ โดยปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถทำแบบออนไลน์ e-Visa ด้วยตัวเองง่าย ๆ ก่อนเดินทางล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน ซึ่งในส่วนวีซ่าก็จะมีให้เลือกหลายแบบ 30 วัน, 1 ปี, 5 ปี ราคาก็จะต่างกันไป เพราะฉะนั้นหากแพลนไปหลายรอบอยู่แล้วการขอแบบ 1 ปีไปเลยอาจคุ้มกว่า ประหยัดเวลามากกว่าด้วย ตัดสินใจได้แล้วก็ตามไปสมัครได้เลยที่ https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html
ทริปนี้เราบินมั่นใจ ตรงเวลา ราคาสุดคุ้ม จากกรุงเทพด้วยสายการบินแอร์เอเชียในเส้นทาง ดอนเมือง (DMK) – โกลกาตา (CCU) ใช้เวลาเพียง 2.30 ชั่วโมง แต่ถึงแม้จะเป็นรูทบินสั้น ๆ แต่ก็ไม่ลืมที่จะเลือกความสะดวกเพิ่มเติมด้วยแพ็กสุดคุ้ม!! ได้ทั้งสิทธิ์เลือกที่นั่งมุมประจำของตัวเอง น้ำหนักกระเป๋าโหลดกันจุก ๆ พร้อมอาหารอุ่นร้อนบนเครื่อง จะได้กินอิ่มนั่งสบายไปถึงพร้อมเข้า รร พักผ่อนได้ทันที สำหรับเส้นทางนี้จะมีบินตรงทุกวัน เวลาน่าจะโดนใจพนักงานประจำ เพราะออกดึกเลิกงานแล้วก็ไปบินต่อได้เลย ส่วนขากลับก็ถึงเช้ามืดคือถ้าไหวก็ไปทำงานต่อได้เลย นอกจากโกลกาตาแล้ว แอร์เอเชียยังมีเส้นทางบินตรงสู่อิ่นเดียมากที่สุด รวมกว่า 10 เมือง ไม่ว่าจะเป็นชัยปุระ ลัคเนา อัห์มดาบาด เบงกาลูรู เชนไน โกชิ คยา กูวาฮิติ และสุดท้ายวิศาขาปัตตนัม ใครอยากไปเส้นทางไหนของอินเดียตามไปกดจองได้เลยที่ : www.airasia.com สะดวกเวอร์
ส่วนเรื่องการเดินทางภาคพื้นดินหลังจากแลนดิงสู่ Kolkata ต่อจากนี้ บอกเลยว่าไม่ยาก หลังจากผ่าน ตม. รับกระเป๋าเดินทางเสร็จสรรพ เราก็กดเรียก Uber ทันที เพราะนี่คือการเดินทางง่ายที่สุด ค่ารถเสถียรที่สุด สนนค่าเข้าเมืองอยู่ราว ๆ 500 รูปี (250 บาท) ไปถึงดึกก็ไม่ต้องกลัวว่าจะแป๊ก มีรถมารอเพียบ ผู้คนก็จอแจไม่เงียบเหงา เช่นเดียวกับการเดินทางไปเที่ยวตามจุดต่าง ๆ ตลอดทั้งทริปนี้ เราก็ใช้ Uber เช่นกัน
Day 1
001 Mullick Ghat Flower Market
เช้าวันแรกนี้ขอเริ่มต้นการดื่มด่ำวัฒนธรรมอินเดียด้วยการเดินชมตลาดสักหนึ่งกรุบที่ ‘Mullick Ghat Flower Market’ ปากคลองตลาดสาขาอินเดีย ทุกแผง ทุกอณูถูกปูวางไปด้วยดอกไม้ ถือเป็นหนึ่งในตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Hooghly มีประวัติยาวนานกว่า 169 ปี ใครจะจัดงานแต่ง งานวันเกิด บูชาเทพเจ้า ฯลฯ ก็ต้องมาเลือกซื้อดอกไม้ที่นี่ทั้งนั้น ทำให้มีบรรยากาศคึกคักสุดปังแบบเกินจะพรรณนา ตั้งสติให้ดีแล้วเอนจอยไปกับความอินเดียต่อจากนี้ได้เลย
ภาพมาสเตอร์พีซที่ควรค่าแก่การโพสต์เช็คอินในโซเชียลทุกแพลตฟอร์มก็คือการการนำพวงดอกดาวเรืองฟู ๆ มาห้อยคอแบบนี้ โดยมีแบ็คกราวด์ผู้คนดูวุ่นวายอยู่ด้านหลัง บอกเล่าหลายร้อยเรื่องราวในเสี้ยวนาที ถือเป็นเสน่ห์ของอินเดียที่เราเจอในทุกเมือง ไม่แปลกใจทำไมช่างภาพสายสตรีทให้อินเดียเป็นท็อปลิสต์ แกกกก… คือมันถ่ายรูปสนุกมากกกก กดชัตเตอร์จนนิ้วแทบล็อก
002 Howrah Bridge
ติด ๆ กันเป็นอีกไอคอนประจำเมืองที่ใครมาโกลกาตาจะต้องมีรูปร่วมเฟรม ‘Howrah Bridge’ สะพานเหล็กขนาดใหญ่ที่พาดผ่านแม่น้ำ Hooghly ออกแบบโดย Mr. Walton of M/s Rendel, Palmer & Triton เริ่มสร้างราว ๆ 80 กว่าปีก่อน ปัจจัยที่ต้องสร้างอย่างแข็งแรงแน่นหนาขนาดนี้ เพราะบริเวณนี้มีพายุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงต้องปูโครงสร้างไว้อย่างดีเพื่อใช้สัญจรนั่นเอง แต่ละวันบนนี้มีรถวิ่งผ่านประมาณแสนคัน รองรับคนเดินเท้าได้มากกว่า 150,000 คน จึงขึ้นชื่อว่าเป็นสะพานเหล็กที่พลุกพล่านที่สุดในโลก และด้วยความยาวกว่า 700 เมตรทำให้ที่นี่กลายเป็นสะพานเหล็กยาวอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว
ความเพลิดเพลินของที่นี่คือการได้เดิน snap มุมต่าง ๆ บนสะพาน ภาพโครงเหล็กที่อยู่ด้านบนนั้นดูเคร่งขรึมแข็งแรง ทั้งวัสดุ พื้นถนน เงาที่พาดผ่านนั้นคุมโทนเป็นสีเทา พอมีรสบัสเพนต์ป้ายภาษาอินเดียสีฉูดฉาดก็กลายเป็นภาพเท่ ๆ หรือจะเป็นแท็กซี่สีเหลืองก็กิ๊บเก๋ไม่ซ้ำใคร ซึ่งเจ้าแท็กซี่ทรงคลาสสิกนี้ก็ถือเป็นอีกเอกลักษณ์ของเมือง มีใช้มานานกว่า 66 ปีแล้ว เป็นรถที่ผลิตให้คล้ายกับ Morris Oxford Series III ของอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันกำลังเหลือน้อยลงทุกที เพราะคนใช้น้อยลงและบริษัทที่ผลิตรถปิดตัวตั้งแต่ปี 2014 จึงไม่มีรถออกใหม่ตั้งแต่นั้นมานั่นเอง
003 Kona Dukan
หลังจากที่เดินชมความอินเดียมาตั้งแต่เช้า เรามาหลบความวุ่นวายพักสมองกันด้วยการจิบเครื่องดื่มรสชาติว้าว ๆ ที่ร้าน ‘Kona Dukan’ สตรีทฟู้ดคู่บุญของชาวโกลกาตา ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนของตรอก Lyons Range กลางย่านเศรษฐกิจอันคึกคัก ร้านนี้อยู่คู่เมืองโกลกาตามานานกว่า 79 ปี ก่อตั้งมาตั้งแต่รุ่นทวดที่เดินทางมาจาก Gaya เปิดเป็นร้านเล็ก ๆ จนเติบโตกลายเป็นร้านที่ได้รับความนิยมจากคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอย่างที่เห็น
อาหารของร้านจะเป็นฟีลลิง snack ที่ค่อนข้างอิ่มท้อง ทั้งแซนด์วิช ขนมปังก้อน แกงกินกับแป้งทอด เราเลือกเมนูที่เป็น best seller ของร้านคือ Malai Toast Sandwich นำขนมมาลัยขาว ๆ ที่หลายคนชอบมาโปะไว้ด้านบนขนมปัง แล้วนำไปย่างจนเกรียมกำลังดี มีกลิ่นนม-ขนมปังหอมอบอวล รสชาติออกหวานมันกรอบ ของกินเล่นอีกอย่างที่ไม่ควรพลาด Mini Samosa ไส้แน่น ๆ คลุกเครื่องเทศอินเดียนัว ๆ และ Bun Maska ขนมปังอบสอดไส้มาซาลากินคู่กับเนยฉ่ำ ๆ จิบตัดกับไจร้อน ๆ แล้วดีสุด ๆ
004 B. B. D. Bagh
ด้วยความที่บริเวณนี้เป็นย่านเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปทั้งแบบเก่าและแบบใหม่อยู่เยอะมาก โดยเฉพาะบริเวณ ‘B. B. D. Bagh’ จัตุรัสที่ตั้งชื่อตาม 3 บุคคลสำคัญผู้ต่อสู่เพื่ออิสรภาพของอินเดีย Benoy, Badal และ Dinesh อาคารอิฐแดงที่เห็นนี้คือ ‘Writers’ Building’ สร้างขึ้นเมื่อ 247 ปีก่อน ที่ตอนนี้ใช้เป็นที่ทำการของรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีพนักงานอยู่มากกว่า 6,000 คน อีกอาคารที่น่าสนใจ ‘General Post Office (G.P.O.)’ ไปรษณีย์กลางของเมือง ตัวอาคารมีอายุ 156 ปี นับแต่สร้างเสร็จ โดดเด่นด้วยสีขาวอร่ามตา มียอดโดมสูงกว่า 220 ฟุต ประดับนาฬิกาอยู่ตรงกลาง ค้ำยันด้วยเสา Corinthian อันงดงาม แถมย่านนี้ยังครึกครื้นตลอดเวลา เพราะมีแท็กซี่สีเหลือง ร้านขนม ร้านสตรีทฟู้ด ให้ได้ชิมได้ถ่ายรูปกันแบบไม่หยุดหย่อน
005 St. Paul Cathedral Church
บ่ายนี้เราขอพาทุกคนวาร์ปย้ายทวีปมาสู่โซนยุโรปแสนโรแมนติกท่ามกลางความเงียบสงบที่คอนทราสต์จากเมื่อเช้าอย่างสิ้นเชิง เร่ิมที่ ‘St. Paul Cathedral Church’ โบสถ์ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Indo-Gothic เป็นทรงที่ทำมาให้เข้ากับบรรยากาศของอินเดีย มีอายุ 185 ปีนับจากวันวางศิลาฤกษ์ ถือเป็นโบสถ์ใหญ่ที่สุดในโกลกาตา สร้างเพื่ออุทิศให้แก่บาทหลวงแห่งแรกในโลกตะวันออก และเป็นโบสถ์ Anglican แห่งแรกของเอเชีย ความงดงามนี้เริ่มตั้งแต่รอบนอกที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ พุ่มไม้ ดอกไม้ ช่วยขับให้โบสถ์ดูโดดเด่น มองกี่ทีก็ไม่เหมือนอยู่อินเดียเลย
ภายในโบสถ์นั้นมีการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเอกสาร แผ่นจารึก อนุสรณ์สถาน รูปปั้น สิ่งประดิษฐ์ ภาพวาด กระจกสี ฯลฯ ซึ่งเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป แต่บอกเลยว่างานเขาวิจิตรสวยงาม ทำเราร้องว้าวไปหลายรอบทีเดียว ใครจะมาตามรอยขอให้เช็กเวลาเปิดปิดดี ๆ นะ วันธรรมดาจะเปิดเป็นช่วงเช้า-บ่าย วันเสาร์เปิดตลอดวัน และปิดวันอาทิตย์ฮะ
006 Victoria Memorial
จบวันไปแบบฟินาเล่กับโลเคชันอันยิ่งใหญ่งดงาม ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในสมัยที่อังกฤษเขาปกครองพื้นที่นี้ ‘Victoria Memorial’ โดดเด่นด้วยอาคารยุค Colonial ที่อยู่มานานถึง 118 ปี สร้างด้วยหินอ่อน สว่างสบายตา ออกแบบด้วยสไตล์ Indo-Saracenic เป็นดีไซน์ที่เกิดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ผสานสถาปัตยกรรมหลายแขนง แล้วยังใส่เสน่ห์ความลึกลับ ความแปลกตาของศิลปะอินเดียเข้ามาด้วย มองจากด้านนอกเราจะตื่นตะลึงในความใหญ่ โอ่อ่าของสิ่งปลูกสร้าง แซมด้วยความงดงามของสวนที่มีทั้งบ่อน้ำ สวนดอกไม้ บรรดาต้นไม้ถูกตัดแต่งอย่างตั้งอกตั้งใจ มองไปมุมไหนก็มีแต่ความสมบูรณ์แบบ
ส่วนภายในนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชั้นทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นครู ที่จัดวางทุกอย่างเหมือนมิวเซียมตะวันตก บอกเล่าประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรมของเมืองโกลกาตา ชมของสะสมโบราณที่มีตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ รูปปั้นหินอ่อนของบุคคลในราชวงศ์ จิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าชีวิตของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เราสามารถพบเจอความอลังการนี้ได้ด้วยการตีตั๋วเพียง 500 รูปี หรือราว ๆ 250 บาทเท่านั้น!!
นอกจากสตอรี่ที่อัดแน่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกสปอตสำหรับชมแสงเย็นที่งามหมดจดกว่าเขากว่าใคร เพราะด้วยอาคารที่ทำจากหินอ่อนเฉดเดียวกับทัชมาฮาล ทำให้ภาพสะท้อนตรงบ่อน้ำในสวนสุดชิลที่สดใสไปด้วยดอกไม้นี้สวยตราตรึงจนเกือบลืมหายใจ ใด ๆ คือจะบอกว่าอากาศอินเดียช่วงต้นปีก็แสนจะเย็นสบาย กลายเป็นอีกจุดที่ดีเกินคาด ช่วยเปลี่ยนมุมมองอินเดียที่เคยเห็นไปในพริบตา จนรู้สึกอยากตามล่าหาสปอตอันซีนในอินเดียแบบนี้อีกเยอะ ๆ เลย
Day 2
007 Dakshineswar Kali Temple
พิกัดแรกในเช้าวันที่สองนี้ขอเอาใจพี่ ๆ เพื่อน ๆ สายมู ด้วยการเข้าวัดเทพฮินดูอันโด่งดัง ‘Dakshineswar Kali Temple’ วัดพระแม่กาลี ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย คุ้มครองความดี วัดนี้สร้างมานานกว่า 169 ปี โดดเด่นด้วยกลุ่มอาคารสีเหลืองนวล ตัดเส้นด้วยสีแดงชวนมอง มีหลังคาเทวาลัย 9 ยอด ไฮไลต์คือรูปเคารพของเจ้าแม่กาลีที่ทำจากหินภูเขาไฟดำ ห่มด้วยผ้าไหมทอง ยืนอยู่บนรูปปั้นหินอ่อนของพระศิวะที่กำลังนอนอยู่ ด้านในมีร้านขายเครื่องชุดบูชามากมาย ล้วนแล้วแต่จัดพรีเซนต์สวยงาม ทุกชุดประดับด้วยดอกชบาแดงอันเป็นดอกประจำตัวของพระองค์ โดยทางวัดจะแบ่งเวลาเยี่ยมชมเป็น 2 เวลา เช็กกันดี ๆ นะจ๊ะ เราขอแนะนำให้มาตอนเช้าเพื่อหลีกเลี่ยงเหล่าฝูงชนที่มาพร้อมความศรัทธากันอย่างเนืองแน่นแทบตลอดวัน
ด้วยความที่ด้านในเขาห้ามถ่ายรูป และไม่ให้พกมือถือเข้าไปด้วย เลยเอากลับมาได้เพียงคำบรรยาย หลังขอพรเสร็จเราก็เดินลัดเลาะด้านข้างของวัดมาเรื่อย ๆ จนถึงริมแม่น้ำ Hooghly แม่น้ำสายหลักของเมือง หนึ่งในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากแม่น้ำคงคา โดยปลายทางนั้นไหลลงสู่อ่าวเบงกอล เราจะเห็นหลากหลายกิจกรรม ณ บริเวณนี้ ทั้งวัฒนธรรมการลอยดอกไม้ การอาบน้ำมนต์ การตักน้ำมาใช้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้มันดูเป็นชีวิตตามธรรมชาติของผู้คน และเป็นอีกเสน่ห์ที่ทำให้อินเดียไม่เหมือนที่ไหน
008 Belur Math
อีกความชอบของการมาอินเดียวคือที่เที่ยวปัง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กันหมด จากวัดพระแม่กาลีนั่งรถเพียงอึดใจเราก็มาถึง ‘Belur Math’ วัดที่มีสถาปัตยกรรมที่ใช้คำว่าสวยเปลืองที่สุด มีอายุกว่า 86 ปี ความยิ่งใหญ่ตะโกนตั้งแต่ซุ้มประตูด้านหน้า จนไปถึงลานหญ้ากว้างขวาง ตรงกลางเป็นที่ตั้งของอาคารทรงแปลกตา ที่นี่เป็นสำนักงานใหญ่ของคณะสงฆ์ที่นับถือ Ramakrishna Paramahamsa นักแสวงบุญอันยิ่งใหญ่ ก่อตั้งโดย Swami Vivekananda ผู้ตั้งใจออกเดินทางไปชมสิ่งปลูกสร้างสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างที่นี่ ด้วยแนวคิดที่จะสื่อว่าวัดแห่งนี้ให้ความสำคัญกับความเชื่อที่แตกต่างกันนั่นเอง
โครงสร้างด้านนอกนั้นสร้างจากหินทราย ผสมคอนกรีต สีออกน้ำตาลตุ่น ๆ แต่พอมีงานแกะสลักที่อยู่ตามขอบหน้าต่าง มุมตึก โดม ตกกระทบแสงอาทิตย์ สร้างดีเทลชวนฉงนจนหยุดมองไม่ได้ ด้านในเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปอีกเช่นเคย แต่บอกเลยว่าคุ้มค่าแก่การมาเยือนสุด ๆ มันจะมีความโบสถ์ยุโรปผสมอยู่ด้วย เป็นโถงเพดานสูง ตอนลึก ด้านข้างเป็นเสาแกะสลักลายแบบ Odisha ของอินเดีย ล้อให้คล้ายเสาทรงโรมัน สุดทางเป็นรูปปั้นหินอ่อนของ Ramakrishna ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้นั่นเอง
009 Indian Coffee House
ขอพักระหว่างวันด้วยการตามหาร้านกาแฟนั่งพักจิบชิล บ่ายนี้เรามาหยุดอยู่ที่ ‘Indian Coffee House’ สภากาแฟแสนคลาสสิกที่รวมหนุ่มสาวชาวอินเดียเอาไว้ เดินทะลุทางเข้าเล็ก ๆ ผ่านประตูเก่า ๆ ก็เผยให้เห็นร้านกาแฟอันกว้างขวางเพดานสูง ฟีลลิงที่เราเห็นครั้งแรกเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในหนัง Bollywood ย้อนยุค จัดวางโต๊ะเฉียงทำมุมอย่างเป็นระเบียบ จอแจไปด้วยผู้คนที่นั่งคุยกันอย่างออกรส ที่นี่ถือเป็นร้านกาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง อายุคราวปู่คือ 82 ปี เปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงจนถึงสองทุ่ม เป็นร้านโปรดของเหล่ากวี นักวาด นักเขียน นักการเมือง ฯลฯ จากที่มานั่งเราเพลินมากกับการเห็นคาแรกเตอร์ของลูกค้าแต่ละคน เข้าใจแล้วทำไมศิลปินชอบมานั่งกัน
แม้จะติดชื่อร้านว่าเป็นร้านคอฟฟี่เฮาส์ แต่งานอาหารเรียกได้ว่าฉ่ำมากกก มีตั้งแต่ของกินเล่น อาหารจีนสไตล์อินเดีย ซุป แซนด์วิช เครื่องดื่ม ฯลฯ เราสั่งเป็น Fish Finger ปลาทอดในรูปแบบแท่ง ๆ มีกลิ่นเครื่องเทศแซมบาง ๆ จิ้มกับซอส และหัวหอมเพื่อตัดเลี่ยน อีกจานเป็น Egg Sandwich ขนมปังหนานุ่มที่มีไข่นัว ๆ แทรกอยู่ข้างใน กินคู่กับกาแฟรสชาติหวานกลมกล่อมแล้ว มันเข้ากันได้ละมุนละไมสุด ๆ
010 College Street
ด้วยความที่ Indian Coffee House ตั้งอยู่ใน ‘College Street’ ซึ่งให้บรรยากาศที่แปลกแยกจากย่านอื่น ๆ จนต้องแอบลิสต์ไว้ในใจว่าหลังกินต้องมาเดินสำรวจสักหนึ่งกรุบ สำหรับถนนเส้นนี้มีระยะทาง 1.5 กม. ถือเป็นเส้นที่ร่ำรวยความรู้ที่สุด เพราะเต็มไปด้วยร้านขายหนังสือ ที่เขายกออกมาวางหน้าร้านเป็นตั้ง ๆ สร้างสีสันให้ดูน่าค้นหา เล่นใหญ่เล่นโตขนาดที่คนอ่านภาษาอินเดียไม่ออกอย่างเราต้องไปยืนมอง ความปังอยู่ที่เขาถูกยกให้เป็นแหล่งสะสมหนังสือมือสองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ที่สำคัญเน้นขายในราคาถูกมาก ๆ หากใครเป็นหนอนหนังสือ หรืออยากได้หนังสือภาพ หนังสือภาษาอังกฤษสวย ๆ ไปเก็บสะสม เราแนะนำให้ลองมาคุ้ยหากันเลย
รอบ ๆ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนมากมายตามชื่อถนน ทำให้บรรยากาศที่นี่คึกคักสุด ๆ ยามที่เด็ก ๆ เลิกเรียน เราเลยรีบเดินถ่ายรูปกันสักเซตก่อน บอกเลยว่าหลายมุมที่พบเจอ มันลงตัวเกินต้าน เหมือนเขาจัดวางหนังสือ เล่นสีกับตึกให้เป็นมุมถ่ายรูปชัด ๆ เดินแค่สิบนาทีก็กดรูปมาได้เป็นร้อย ใครเป็นสายคอนเทนต์รับรองว่าม่วนอกม่วสใจสะบัดแน่นอน
011 Peter Cat
สำหรับดินเนอร์ในวันนี้เราเลือกฝากท้องที่ร้าน ‘Peter Cat’ ร้านสวยร้านดังในย่าน Park Street กับไวบ์การกินดื่มที่ค่อนข้างสวยหรู ใช้โทนแดง-ส้มเป็นหลัก เน้นเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งยุคคลาสสิกแสนคลาสซี่ จัดวางชุดโต๊ะอาหารที่รองรับได้ทั้งกลุ่มเพื่อน ครอบครัว และคู่รัก เป็นร้านที่เปิดมานานกว่า 50 ปี มีเครื่องหมายการันตีความดีงาม ด้วยการติดอันดับที่ 17 Most Legendary Restaurants in the World จาก Taste Atlas มงลงขนาดนี้นักกินอย่างเราจะไม่มาลองชิมได้ยังไง?
012 Hot Kati Rolls
ถ้าอยากหาสตรีทฟู้ดในย่านนี้แนะนำให้เดินตามคนอินเดียหมู่มาก แล้วไปมุงพร้อม ๆ กับเขาที่ ‘Hot Kati Rolls’ ก่อนอื่นขอแถลง ณ ตรงนี้ว่าอาหารริมทางของอินเดียไม่ได้น่ากลัวไปซะหมด มันมีร้านที่น่ากิน ดูสะอาดอยู่เยอะมาก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกร้านที่เราหยิบยกมาให้ชม เมนูเด่นของร้านนี้จะเป็นบรรดาโรลไส้ไก่ ไส้แกะ ไส้มังสวิรัติ รวมไปถึงเคบับด้วย ซึ่งเนื้อของร้านนี้จะมีความนุ่ม กลิ่นเครื่องเทศคละเคล้ามากำลังดี รสเข้มข้นมีแป้งโรตีมาช่วยเบลนด์ให้กลายเป็นรสชาติกลมกล่อมกินเพลิน
013 Natural Ice Cream
ปิดท้ายวันกันแบบเด็กอ้วน ด้วยการหาของหวานมากลบเครื่องเทศสักนิดที่ ‘Natural Ice Cream’ ร้านเจลาโตที่เดินเข้ามาปุ๊บ ตาก็ลุกวาวไปกับกลิ่นหวานหอมที่ฟุ้งไปทั่วร้าน แอร์เย็น ๆ ตกแต่งร้านด้วยภาพกราฟฟิกสีพาสเทลชวนอารมณ์ดี พร้อมนานารสชาติไอศกรีมที่ทำเราสับสนอยู่นาน จนต้องขอเลือกรสซิกเนเจอร์ Tender Coconut Ice Cream เพราะเขาเคลมไว้ว่าเป็นผู้บุกเบิกรสชาติมะพร้าวอ่อนในประเทศ ใช้มะพร้าวชั้นดีจากเมืองแห่งมะพร้าว Kerala และ Karnataka รสชาติจะหวานคนละเทสต์กับไอศกรีมกะทิบ้านเรา มันมีความนัวหอมอร่อยจนวันต่อมาต้องซื้อกินซ้ำอีกรอบ
Day 3
013 Glenburn Cafe
เริ่มต้นวันสุดท้ายสไตล์สายชิล ด้วยการเดินฮอปปิงคาเฟ่จิบชาในมื้อสาย ๆ กันที่ ‘Glenburn Cafe’ ร้านสีเขียวขาวแสนวินเทจ ตั้งอยู่ชั้นล่างของโรงแรม The Glenburn Penthouse สิ่งแรกที่ออกมาต้อนรับเราคือดอกเฟื้องฟ้าลอยเลื้อยมาตามผนัง เติมสีสันให้ดูน่ารัก ภายในตกแต่งให้ดูเป็นคาเฟ่ยุโรปยุคเก่าแต่แฝงความลูกคุณด้วยงานฉลุที่บัวเพดานและขอบหน้าต่าง เติมความละมุนด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้องาม พร้อมแสงธรรมชาติอันนุ่มนวลจากหน้าต่างรอบด้าน แค่บรรยากาศร้านก็ต้องยกคะแนนให้เต็มสิบแล้ว
สิ่งที่ชูโรงร้านนี้ให้กลายเป็นที่รู้จักคือชา ซึ่งเขามีให้เลือกมากถึง 23 รูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นชาดาร์จีลิง ชาอัสสัม ที่ทำมาตั้งแต่ปี 1895 ซึ่งอินเดียถือเป็นภูมิภาคที่ปลูกชาประเภทนี้ได้ดีที่สุดในโลก โดยจะใช้เฉพาะใบชาพรีเมียมจากไร่ที่คัดคุณภาพไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีชาขาว ชาเขียว ชาอูหลง นำใบชาเบลนด์เป็นรสชาติต่าง ๆ พอกินคู่กับขนมหวาน ๆ แล้วช่วยปรับสมดุลให้กับรสชาติ ยิ่งกินยิ่งเจริญอาหาร หากใครมาช่วงอากาศเย็น ๆ แนะนำให้ออกมานั่งจิบกันที่โซนหน้าร้านนะ บรรยากาศมันฟินจัดเลย
นอกจากการเดินทางด้วย Uber ที่ค่อนข้างสะดวกและราคาโอเคมาก ๆ แล้ว หากอยากเปลี่ยนมู้ดการเดินทางโกลกาตาเขาก็มีรถไฟใต้ดินสายแรกในประเทศอินเดียที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1984 ไว้คอยบริการอีกด้วย วิ่งในระยะทาง 25.30 กิโลเมตร ผ่าน 26 สถานี กับราคาเริ่มต้นที่ถูกมากเว่อร์ ไม่ถึง 10 บาท ส่วนการเดินทางทางเลือกอื่น ๆ ใด ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะมีรถราง รถเมล์ แท็กซี่สีเหลืองแสนวินเทจที่ราคาต้องต่อรองกันเอาเอง(ระบบมิเตอร์ไม่มีแล้ว)
014 Indian Museum
ก่อนจะไปชอปปิงปิดท้ายทริป เราแวบมาเสพงานศิลป์ผนวชกับศึกษาประวัติศาสตร์กันสักหน่อยที่ ‘Indian Museum’ พิพิธภัณฑ์สีขาวสไตล์ยุโรป สูงสามชั้นบนพื้นที่ 930 ตารางเมตร โอบล้อมลานหญ้ากว้างที่มีบ่อน้ำพุอยู่ตรงกลาง เป็นการออกแบบโดย Walter Granville สถาปนิกอันโด่งดั่งในยุควิกตอเรีย อาคารนี้อยู่มานานกว่า 210 ปีนับแต่วันสร้าง จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย แบ่งการจัดแสดงงานได้ถึง 6 ประเภทด้วยกัน
ซึ่งการแยกประเภทของเขานั้นมาครบทุกรูปแบบทั้งโซนโบราณคดี ศิลปะ มานุษยวิทยา ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา เรียนรู้รากฐานชาวเบงกอลกันแบบฉ่ำ ๆ แซมด้วยงานศิลปะแบบโมกุล และแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตื่นตาไปกับเหล่าฟอสซิล สัตว์น้อยใหญ่ที่บรรจุอยู่ในโถงอันกว้างขวาง ดูวัฒนธรรมสมัยก่อนอันแปลกประหลาดที่หาชมไม่ได้ที่ไหน ไปจนถึงแกลลอรีสัตว์สตัฟฟ์ที่รอต้อนรับเราเหมือนยังมีชีวิต ใครอยากชมอย่างละเอียดแนะนำให้เผื่อเวลาเอาไว้ได้เลย
015 New Market Kolkata
แล้วก็ได้เวลาของช่วงวัดใจว่าใครจะใจแข็งกว่ากัน เมื่อได้มาเจอสินค้าสไตล์อินเดียที่มีสีสันน่ามอง ราคาน่าหยิบใน ‘New Market Kolkata’ ตลาดเก่าแก่ของเมืองที่มีมากว่า 150 ปีแล้ว ที่วางละลานตาในอาคารอิฐแดงที่เป็นหอนาฬิกาแบบตะวันตก รอบ ๆ มีรูปปั้นงาน abstract กระจายอยู่ทั่ว ความน่าสะพรึงของที่นี่ไม่เพียงแค่เรื่องประวัติและสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ความอลังการของเขาที่ยัดรวมร้านได้มากถึง 3,000 ร้านนั้น ทำให้เราขนลุกได้ไม่แพ้กัน
เราสามารถเลือกหาทุกสิ่งที่เราต้องการได้จากที่นี่ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น ชุดสาหรี่ กระเป๋า เครื่องประดับ รองเท้า วิกผม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงขนม ผลไม้อบ เครื่องเทศ ของฝาก ส่วนเรื่องราคานั้นเรียกว่าตาดีได้ตาร้ายเสีย เพราะจากที่เดินสำรวจราคาชุดมาเรื่อย ๆ ขายไม่เท่ากันเลยสักร้าน แต่ถ้าจะให้เดินเช็กทั้งตลาดก็คงไม่ไหว เอาเป็นว่าถูกชะตากับร้านไหนก็ปล่อยใจจอย ๆ แล้วสอยมาเถอะ เชื่อว่าราคาคงไม่ต่างกันมาก และถูกกว่าอิมพอร์ตมาที่ไทยแน่นอน
สำหรับที่พักที่ช่วยโอบอุ้มเราตลอดทริปนี้คือ ‘Kenilworth Hotel, Kolkata’ โรงแรมเก่าแก่ที่มีโลเคชันสุดปังใจกลางเมืองใกล้กับ Victoria Memorial เปิดบริการมานานกว่า 55 ปี ปรับเปลี่ยนการตกแต่งให้เข้ากับยุคสมัย ผสานความลักชูเข้ากับความโมเดิร์นได้อย่างลงตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสไตล์โรงแรม 4 ดาว กล้าพูดได้เลยว่านี่คือหนึ่งในโรงแรมที่สุดของเมือง ยิ่งใครเป็นคนกินยากบอกเลยว่าอาหารเช้าของเขาคือมื้อแห่งสรวงสวรรค์ ครบทั้งสไตล์อเมริกัน พื้นเมือง และขนมอบกลิ่นหอมหวลที่ทำเราแฮปปี้ทุกครั้งเมื่อได้กิน
ทำเอาใจหายเหมือนกันที่อยู่ดี ๆ ทริปอินเดียรอบนี้ก็ถึงตอนจบอย่างรวดเร็ว แต่ละสถานที่ทำให้รู้สึกว่าเวลามันผ่านไปไวเหลือเกิน เราค่อนข้างจอยไปกับสถาปัตยกรรมของเมืองนี้มาก รื่นรมย์ไปกับผู้คนตามจุดเช็กอินต่าง ๆ ที่แสนจะเฟรนด์ลี่ เมืองที่ทำให้เราก้าวข้ามความกลัวเพื่อได้ลิ้มลองสตรีทฟู้ดอินเดียอร่อย ๆ บอกเลยว่าโกลกาตาจะเป็นอีกเมืองที่เปลี่ยนมุมมองอินเดียของทุกคนไปตลอดกาล สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดทั้งทริป 3 วัน เราหมดไปแค่หมื่นกลาง ๆ ( ไม่รวมตั๋ว ) เอาจริงมันสามารถถูกได้กว่านี้อีก อย่างพวกที่พัก ค่ากิน ค่าชอปปิง จริตการเลือกการใช้มันก็เป็นปัจเจกบุคคล