หากทริปต่อไปมีโจทย์เป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรม ชมสถาปัตยกรรมแสนอลังการแบบสวยตาแตก เราขอปักให้ Lucknow คือเส้นชัยที่อยากให้ทุกคนได้พิชิตสักครั้งในชีวิต เพราะนี่คือเมืองใหญ่ทางตอนเหนือที่จะมาเปลี่ยนภาพจำของอินเดียที่เคยมี แทนที่ด้วยแสนล้านโมเมนต์สุดประทับใจจากความหลากหลาย ทั้งเรื่องผู้คนที่มีน้ำใจ ความบันเทิงในแบบที่เอเชียอื่น ๆ ไม่มี ตัดสลับกับความงดงามของงานออกแบบที่ผสานทั้งฮินดู-มุสลิม เปอร์เซีย ยุโรป ผนวกออกมาเป็น ‘มุสลิมโมกุล’ ที่มีความปราณีตยิ่งใหญ่สมมงจนได้เป็น Top 3 มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย หรือจะเป็นแลนด์มาร์กที่เหมือนได้ว๊าปไปแดนอาหรับ นั่งชมพระอาทิตย์ตกแบบตัวมัม พร้อมกินสตรีทฟู้ดที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรือจะเป็นอาหารของมหาราชาที่กินง่ายกว่าที่คาด แพลนนี้รับรองว่าคนอยากเที่ยวอินเดียระดับบิกกินเนอร์สามารถเที่ยวตามได้ชิล ๆ แน่นอน
Lucknow (ลัคเนา) มหานครแห่งอินเดียเหนือ เมืองหลวงของ Uttar Pradesh หรือเรียกสั้น ๆ ว่ารัฐยูพี รัฐที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ติดกับประเทศเนปาล โดยลัคเนาถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม เพราะมีสายการบินในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้คนต่อไปยังเมืองต่าง ๆ แต่หลังจากที่เพื่อน ๆ ได้เห็นรีวิวในทริปนี้ ทุกคนจะต้องไม่อยากให้เมืองนี้เป็นเพียงทางผ่านแน่นอน เพราะเขาเต็มไปด้วยแลนด์มาร์กยิ่งใหญ่ที่สวยไม้แพ้ใคร การเดินทางสุดกร้าวใจที่ทำเราตื่นเต้นแทบทุกนาที ผู้คนน่ารักที่ไม่ได้เหมือนในสารคดีไปซะหมด มาดูกันว่า 3 วัน 3 คืนในลัคเนาของเรา มันจะจึ้งตาจึ้งใจขนาดไหน
โดยการเดินทางในทริปนี้ เราเรียกรถผ่านแอป Uber ประมาณ 99% เพราะสิ่งนี้ช่วยให้เราถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น ลดความปวดหัวเรื่องการสื่อสาร ไม่ต้องหาเงินสดนับเงินทอนให้วุ่นวาย และขอแนะนำให้เลือกนั่ง auto rickshaw ฟิลลิงสามล้อบ้านเรา จะม่วนขึ้นอีกสิบเท่า กับการปาดซ้าย แซงขวา ฝ่ารถติดแบบที่ไม่ผิดกฎจราจร แต่ที่ชอบสุดคือตอนนี้เขาเริ่มเปลี่ยนมาใช้เป็นรถไฟฟ้ากันแล้ว ควันจึงไม่ค่อยเยอะ ยิ่งมาช่วงปลายปีต้นปี อากาศหนาว ๆ ยิ่งชิล ส่วนอีก 1% เราลองนั่งรถไฟฟ้า Lucknow Metro กับราคาเริ่มต้นที่ทำเอาเราเซอร์ไพร์เพียง 10 รูปี ( 5 บาท ) ด้วยค่าเดินทางภายในเมืองที่ค่อนข้างถูก ค่าที่พักไม่แรง(แถมดีสุด ๆ ) ค่ากินต่าง ๆ ที่จ่ายน้อยแต่อิ่มอร่อยแบบจุก ๆ ก็เลยทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในทริปหมดไปไม่ถึงหมื่น(ไม่รวมตั๋ว) แต่ได้ใช้ชีวิตอู่ฟู่ตลอด 3 วัน 2 คืน เยี่ยงมหารานี
สำหรับทริปเปิดประสบการณ์อินเดียเหนือครั้งแรก เราเลือกเปิดการเดินทางด้วย AirAsia สายการบินของนักเดินทาง ยืนหนึ่งเรื่องเส้นทางบินอันหลากหลาย ยิ่งอินเดียก็มีไฟลต์พุ่งตรงสู่เมืองท่องเที่ยวและเส้นทางใหม่ ๆ เยอะมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Lucknow ที่มีทั้งหมด 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ อาทิตย์ และเช่นเคยว่าทุกการจองตั๋ว เราไม่ลืมที่จะซื้อแพ็กสุดคุ้ม ที่ได้ครบตั้งแต่เลือกที่นั่งได้ดั่งใจ อาหารอุ่นร้อนรสชาติที่คิดถึง และน้ำหนักกระเป๋าที่ให้มาจุก ๆ 20 กิโลกรัม
Day 1
001 Chota Imambara
ความดีงามแรกที่ได้เจอคืออากาศช่วงที่เรามานั้นเย็นสบายระดับยี่สิบองศาต้น ๆ ทำให้เราเดินเที่ยวได้ชิลสุด ๆ วันแรกเราจึงเลือกที่จะนอนตื่นสาย แต่งตัวสองเลเยอร์กันแดดกันลมให้พร้อม แล้วมาเช็กอินกันที่ ‘Chota Imambara’ มัสยิดขนาดย่อมของชาวมุสลิมชีอะห์ สร้างขึ้นโดย Nawab Mohamad Ali Saha ผู้ปกครององค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ลัคเนา ซึ่งผู้หญิงจะต้องโพกหัวก่อนเข้าด้วย แนะนำให้เตรียมไปเองหรือจะยืมของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ติด เดินผ่านประตูใหญ่มา ก็จะพบกับสระน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่สร้างภาพสะท้อนน้ำได้อย่างสวยงาม เอกลักษณ์ของมัสยิดแห่งนี้คือลวดลาย Caligraphy อักษรอิสลามแสนปราณีตสีขาวดำ คู่สีแสนเท่ที่เราไม่เคยเห็นที่ไหน ความวิจิตรนั้นอยู่ตรงการแกะสลักที่สมมาตรละเอียดลออ จะมองจากระยะไหนก็หลงรักได้ง่าย ๆ
ด้านในอาคารหลักจะประดับประดาไปด้วยโคมระย้าทรงสวยมากมาย จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘Palace of Lights’ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และยังเป็นสุสานของ Nawab Mohamad Ali Saha และมารดาที่ฝังอยู่เคียงข้างกัน แต่เสียดายเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ส่วนอาคารด้านข้างนั้นถูกสร้างเป็นสีขาว มีงานสลักที่วิจิตรตาแตกไม่แพ้กัน แม้สถานที่จะไม่ใหญ่มาก แต่เราก็เดินละเมียดชมได้แทบทุกองค์ประกอบ พร้อมครีเอทมุมภาพกับสวนและมัสยิด จนได้รูปสวย ๆ มาไม่น้อยเลยทีเดียว
002 Pehla phatak
เดินออกมาจากมัสยิด เราจะเห็นประตูกลางเมืองที่งดงามไม่แพ้ประตูไหน ๆ ‘Pehla phatak’ อีกแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนมองข้าม ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Rumi Darwaza ประตูตุรกีเอกลักษณ์ของเมืองที่ตอนนี้ทำการซ่อมแซมอยู่ โดดเด่นด้วยซุ้มประตูสีขาว 3 ช่อง เป็นประตูที่มีความหนาหลายชั้น ด้านบนมีงานปูนปั้น งานแกะสลักที่นูนเว้าด้วยฝีมืออันแสนประณีต สร้างมิติแสงเงาให้น่ามอง การจัด Composition ก็แสนเป๊ะ มองลอดประตูไป จะตรงกับประตูอื่น ๆ พอดิบพอดี ปัจจุบันประตูนี้ก็ยังคงใช้เป็นที่สัญจรของผู้คน ที่สามารถทะลุไปยังแหล่งร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร สตรีทฟู้ดมากมาย เป็นแอเรียที่คึกคักตลอดเวลา
แน่นอนว่าสิ่งที่สร้างความบันเทิง เพิ่มความสนุกให้เราตลอดทริปไม่ได้มีเพียงความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เรื่องราวระหว่างทางก็ทำเราประทับใจได้ไม่น้อย เพราะทุกการก้าวขาไปบนถนน เราจะพบหลายร้อยเรื่องราวในชั่ววินาที มันอาจจะเป็นชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่หลายอย่างมันชวน ‘เอ๊ะ’ สำหรับเรามาก ๆ ไม่แปลกใจเลยที่ช่างภาพสายสตรีทหลาย ๆ คนจะมีรูปปัง ๆ จากอินเดียอยู่เสมอ กวาดตาไปตรงไหนก็จะมีมุมเจ๋ง ๆ เฟรมดี ๆ พร้อมผู้คนที่ยิ้มสู้กล้องแทบทุกซอกซอย อยู่ที่ว่าเธอจะลั่นชัตเตอร์ทันหรือเปล่าแค่นั้น เรียกว่าเป็นเมือง Photogenic ก็ไม่เกินจริง
003 Satkhanda
หลังจากแวะกินข้าวเที่ยง เดินถ่ายรูปนิด ๆ หน่อย ๆ เราก็มาเก็บแลนด์มาร์กเล็ก ๆ รอบเมืองเก่ากันต่อ จุดนี้ชื่อว่า ‘Satkhanda’ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์มีรูปทรงแปลกตาเป็นหอคอย 7 ชั้น สูง 30 เมตร สร้างโดย Nawab Mohammad Ali Shah ใช้สถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบโมกุล กรีก และฝรั่งเศส ไว้ด้วยกัน เชื่อว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหอเอนเมืองปิซาและ Qutub Minar ในเดลี แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จ Nawab Mohammad Ali Shah ได้เสียชีวิตลง การก่อสร้างจึงหยุดชะงัก ด้วยความเชื่อว่าอาคารนี้เป็นลางร้าย จึงไม่มีใครสานต่อ กลายเป็นอาคารที่มีเพียงโครงเท่านั้น แต่ยังดีที่ได้รับการทำนุบำรุงจากทางการ กลายเป็นอีกองค์ประกอบที่มาช่วยเติมเต็มภาพเมืองเก่าให้ดูสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
004 Picture Gallery
ตรงข้ามกับ Pehla phatak เราจะเห็นอาคารเก่าแก่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมบ่อน้ำซึ่งสามารถเดินถึงกันได้ไม่กี่อึดใจ ที่นี่คือ ‘Picture Gallery’ อาคารอิฐแดงที่สร้างมานานถึง 185 ปี ซึ่งถือว่าเป็นแกลลอรีที่เก่าแก่ที่สุดในลัคเนา โดย Nawab Mohammad Ali Shah เดิมใช้เป็นบ้านพักฤดูร้อนของราชวงศ์ลัคเนา โดดเด่นด้วยโถงทางเข้าที่ต้องเดินขึ้นบันไดไปสูงพอสมควร เมื่อมองออกไปนอกระเบียง ก็จะเจอกับภาพเมืองเก่าได้อย่างถนัดตา
ไฮไลต์ของที่นี่คือภาพเหมือนของมหาเศรษฐีแห่งแคว้น Awadh ขนาดเท่าคนจริง วาดด้วยลายเส้นที่งดงาม เก็บรายละเอียดอย่างดีมีการลงสีสร้างแสงเงาอย่างบรรจง รอบ ๆ ยังมีภาพที่วาดโดยศิลปินชาวอินเดียและยุโรปอีกมากมายให้เราได้ชื่นชม แต่ไม่สามารถถ่ายรูปภายในได้อีกเช่นเคย เราเลยเก็บภาพรอบ ๆ ตัวแกลลอรีมาฝากแทน เอาดี ๆ เขามีมุมเก๋ ๆ ให้ครีเอทอยู่เยอะเหมือนกันนะ โดยเฉพาะมุมระเบียงยาว ที่มีกรอบเป็นทรวดทรงสไตล์อินเดีย พอโดนแสงแดดตกกระทบ ก็กลายเป็นเงาลายพร้อยให้เราเข้าไปร่วมเฟรม ถ่ายทะลุออกไปจะพบกับแลนด์มาร์กหลายจุด ทั้ง Pehla phatak, Clock Tower พร้อมบรรยากาศคึกคักจาก Mina Bazaar ตลาดที่ผู้คนเอาของมาวางขายอย่างมีชีวิตชีวา
005 Hussainabad Clock Tower Lucknow
ส่งท้ายวันแรกด้วยพิกัดสุดปัง ‘Hussainabad Clock Tower Lucknow ‘ หอนาฬิกาเก่าแก่อายุกว่า 142 ปี กับความสูง 67 เมตร ที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในอินเดีย สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Gothic และ Victorian มีหน้าปัดนาฬิกาล้อมทั้ง 4 ด้าน รูปทรงคล้ายกลีบดอกไม้ 12 กลีบ พร้อมลูกตุ้มที่ยาวถึง 15 ฟุต เชื่อว่าถอดแบบมาจากหอนาฬิกา Big Ben ที่อังกฤษ สร้างเพื่อต้อนรับผู้ว่าราชการคนแรกของแคว้น Awadh – Sir George Couper ปัจจุบันมีการรีโนเวทให้นาฬิกาทำงานได้ด้วยระบบไฟฟ้า และได้รับการซ่อมบำรุงเรื่อยมา นอกจากความสวยแล้ว ที่นี่ยังเต็มไปด้วยความจอย จากผู้คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจแทบจะตลอดเวลา ยิ่งช่วงเย็น เราจะเห็นครอบครัวพาลูกหลานมาปิกนิก เล่นว่าว มีฝูงแพะเดินไปมาอย่างอิสระ ร้านเครื่องดื่มท้องถิ่นสไตล์สภากาแฟมีให้เห็นอยู่เยอะมาก ถ้าอยู่ตรงนี้ 1 วัน เราจะมีเรื่องเล่ามากกว่าพันเหตุการณ์แน่นอน
Day 2
006 Bara Imambara
วันนี้แหละจะเป็นของจริงที่เราได้รู้จักลัคเนาแบบเต็มอิ่ม ด้วยการเก็บแลนด์มาร์กใหญ่ ๆ ชมความที่สุดของลัคเนากันแบบจุก ๆ เริ่มที่ ‘Bara Imambara’ ศาสนสถานของชาวมุสลิม ที่ถือเป็นมัสยิดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย สร้างโดย Nawab Asaf-ud-Daula ช่วงศตวรรษที่ 18 หรือราว ๆ 230 กว่าปีมาแล้ว โอ่อ่าตั้งแต่ประตูทางเข้า ผ่านเข้ามาเจอสวนสวย ห้อมล้อมด้วยกลุ่มอาคารที่เราสามารถเข้าชมได้ถึง 3 จุด แนะนำว่าให้มากันตั้งแต่เช้าเพราะคนยังไม่เยอะมาก มีเพียงกลุ่มเด็ก ๆ ที่มาทัศนศึกษาเท่านั้น ทำให้หามุมถ่ายรูป หาที่นั่งทอดเวลาชมความงามได้สบาย ๆ แต่ถ้ามาช่วงบ่ายก็เตรียมพบกับความบันเทิงของมวลมหาประชาชนได้เลย
ลอดประเข้ามา … ด้านขวามือเราะจะเห็นมัสยิดสีขาวสะท้อนตา ยืนท้าแดดอย่างสง่างามอยู่ จุดนี้คือ ‘Asfi Mosque’ มัสยิดโบราณ ขนาบข้างด้วยหอระฆังแฝด โดมบนยอดมัสยิด 3 โดม ภายในเป็นหลุมศพของ Nawab Asaf-ud-Daula ส่วนอาคารกลาง ภายในจะเป็นโถงยาวเพดานสูง ไฮไลต์อยู่ที่ความโอ่อ่ายิ่งใหญ่นี้ไม่มีการใช้คานหรือเสาค้ำยัน แต่ใช้ความโค้งมนของโครงสร้างให้บาลานซ์กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมจัดวางของเก็บสะสมจากทั่วทุกสารทิศให้เราได้ชม แนะนำว่าให้มาดูด้วยตาเนื้อจะเห็นถึงความร่ำรวยเกินรวย รวยเกินคนที่แท้ทรู
ส่วนทางขึ้นสู่ด้านบนนั้นจะอยู่ที่ด้านซ้ายสุดของอาคาร ขึ้นบันไดไปแต่ละชั้นเราจะเห็นทางแยกเล็ก ๆ พร้อมช่องรูที่สามารถลัดเลาะเข้าไปได้.. แต่หากไม่มีไกด์นำ เราไม่แนะนำให้เดินเอง เพราะที่นี่ถือเป็นเขาวงกตที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย มีประตูมากถึง 1,024 บาน เปิดให้เข้าชมเพียง 2 บาน แต่ก็ทำเอามึนได้เหมือนกัน เราเลือกพุ่งตรงสู่ชั้นดาดฟ้าเพื่อมาเก็บมุมมหานิยม ภาพ Asfi Mosque จากมุมสูงที่มีกรอบสลักเป็น Foreground ชมวิวสวนจากมุมสูงได้ถนัดตา เห็นคนเดินเข้าเดินออกแบบเรื่อย ๆ ไม่เบื่อเลย
ที่ปีกซ้ายของสวนจะเป็นที่ตั้งของ ‘Shahi Baoli’ บ่อน้ำโบราณที่สร้างไว้เพื่อเก็บกักน้ำและอาหารให้แก่ชาวเมืองในช่วงหน้าแล้ง ใช้เวลาสร้างนานกว่า 10 ปี ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Indo-Islamic มีอายุเข้าสู่ปีที่ 230 พอ ๆ กับ Bara Imambara ประทับใจแรกคือประตูทางเข้าบ่อน้ำที่ดูหรูหรายิ่งใหญ่ เดินเข้ามาเราจะเจอกับขั้นบันไดยาวลงสู่ด้านล่าง หรือหากเดินข้ามไปอีกฝั่งของทางเข้า ก็จะเป็นโถงทางเดินสูงหลายชั้น ที่ตรงกลางเป็นรูแสงธรรมชาติ ส่องถึงก้นบ่อน้ำ เวลาที่แสงทแยงก็จะเกิดเป็นสปอตไลต์ส่องไปตามจุดต่าง ๆ เพิ่มมนต์ขลัง
เอาจริง ๆ นี่เป็นแค่ดีเทลคร่าว ๆ ที่เราหามาฝากเพื่อน ๆ แต่ก็ถือเป็นความรู้ที่ศึกษาก่อนมาเที่ยวแล้วจะเพิ่มอรรถรสขึ้นอีกหลายเท่าตัวเลย แต่ที่แนะนำสุด ๆ คืออยากให้ได้มาชมด้วยตาตัวเองมากกว่า ขนาดคนอินเดียมาเที่ยวเองยังทึ่ง แล้วหนุ่มตี๋สาวหมวยอย่างเราจะเหลืออะไร และเผื่อเวลาไว้อย่างน้อยครึ่งวัน เพื่อจะได้ละเมียดชมความงามในนี้ได้แบบไม่ต้องรีบร้อน มาทั้งทีก็เอาให้คุ้ม
007 Rumi Darwaza
ออกจากประตู Bara Imambara หันตัวไปเล็กน้อย เราก็จะเจอกับ ‘Rumi Darwaza‘ หรือ Turkish Gate แลนด์มาร์กที่เซอร์ไพรส์เราด้วยการปิดก่อสร้างยาว ๆ แต่ก็ขอพูดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟังสักหน่อย กับอภิมหาประตูที่สร้างขึ้นช่วงการปกครองของ Nawab Asaf-ud-Daula อีกเช่นเคย เป็นหลักฐานให้เห็นถึงความอัจฉริยะด้านการออกแบบของคนในสมัยนั้น ด้วยการสร้างสไตล์โมกุล ให้มีรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างออกไป มีโครงสร้างคล้ายประตูของกรุง Constantinople ประเทศตุรกี สูงถึง 60 ฟุต เดิมใช้เป็นทางเข้าเมืองเก่าลัคเนา ด้วยความที่เป็นไอคอนประจำเมือง รอบ ๆ จึงเต็มไปด้วยสามล้อ รถม้า บริการขี่อูด สตรีทฟู้ด ฯลฯ ถือเป็นการต้อนรับเข้าเมืองที่เถิดเทิงมากทีเดียว
008 Nuked Cafe
ถึงเวลาที่ต้องเติมพลัง ฉีดความหวานให้เส้นเลือด เราเรียกรถตรงมาฝากท้องที่ ‘Nuked Cafe’ โลคอลคาเฟ่ริมทาง ไม่มีกระทั่งที่นั่งแต่กลับมีลูกค้าเข้า-ออกไม่ขาดสาย เรียกว่าเป็นของเด็ดประจำเมือง ขวัญใจคนท้องถิ่นก็ไม่ผิด อาจเป็นเพราะเมนูที่มีค่อนข้างวาไรตี้ทั้งเครื่องดื่ม ของกินเล่น และอาหาร ที่เหมาะเป็นทั้งอาหารเช้าและมื้อเที่ยง ส่วนราคาก็แสนเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ อย่างเครื่องดื่มอยู่ที่ 25-80 รูปี อาหารอยู่ที่ 40-130 รูปีเท่านั้น
สิ่งที่เราสั่งมาจะมี Amul Bun-Butter ขนมปังทรงกลมที่ทอดเนยฉ่ำ ๆ กินกับ Chai Tea ร้อนหวานอ่อน ๆ หอมสมุนไพรแล้วเข้ากันสุด ๆ ขนมอีกอย่างที่ควรค่าแก่การเพิ่มแคลอรีให้ร่างกายคือ Cookies เนื้อร่วนกำลังดี มีกลิ่นหอมที่แตกต่างจากคุกกี้ประเทศอื่น ๆ, Cream Horn ที่ทางร้านใช่แป้งคล้ายครัวซองต์กรอบ ๆ กินกับครีมเนื้อเนียนรสชาติหวานสะบัด ส่วนเมนู The must ที่เราเห็นชาวอินเดียกินกันทุกโต๊ะจะเป็น Cheese&Veggie Sandwich ชีสอินเดียโบกมาหนักขนาดไหนก็ไม่เลี่ยน เพราะเนื้อและกลิ่นจะบางเบากว่าแบบยุโรปเยอะมาก หรือจะสั่ง Meggi มาม่ากลิ่นผงกะหรี่ทำมาสด ๆ ร้อน ๆ ดีงาม อร่อยขนาดที่เราต้องกลับมาซ้ำ 2 รอบเลยอะแก
009 Dr. Babasaheb Ambedkar Memorial Park
เมื่อเริ่มเข้าสู่บ่ายแก่ ๆ แสงแดดเริ่มเป็นใจ เราก็มูฟตัวออกมาที่ ‘Dr. Babasaheb Ambedkar Memorial Park’ โลเคชั่นปิดท้ายวันสุดอลังการที่สร้างความประทับใจให้แบบไม่รู้ลืม ที่นี่เป็นอนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่พลิกโฉมการปกครองของอินเดียยุคใหม่ ด้วยชาติกำเนิดที่อยู่ในวรรณะจัณฑาล ใช้ความฉลาดความอดทนต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม จนได้เป็นประธานรัฐสภาคนแรกของอินเดีย มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อนุสรณ์แห่งนี้สร้างมานานกว่า 28 ปี บนผืนดินอันกว้างใหญ่ใกล้กับแม่น้ำ Gomti ซึ่งมีหลายสปอตมากให้เราได้เยี่ยมชม และบอกเลยว่าถ่ายรูปสวย จนต้องขอตั้งให้เป็นโลเคชั่นมาสเตอร์พีชของทริปนี้
สิ่งที่ดึงสายตาผู้คนมากที่สุดคงจะเป็นโดมขนาดใหญ่ตรงกลางซึ่งเป็นหอเกียรติยศของดร.อัมเบดการ์ มีรูปปั้นอันใหญ่โตของท่านนั่งด้วยท่วงท่าสง่างาม รอบนอกเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ให้ฟีลเหมือนเดินอยู่ในเคหสถานของเจ้าอาหรับอันโอ่อ่า มีโซนเสาหินอ่อนประดับยอดด้วยช้างเรียงไปยังโดมอีกฝั่ง ด้านหน้ามีน้ำพุขนาบข้าง ทุกอย่างจัดวางอย่างสมมาตรสมบูรณ์ ภายในโดมมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญด้านการปกครอง อาทิ Jyotiba Phule, Shri Narayana Guru, Gautam Buddha, Sant Ravi Das, Sri Birsa Munda, and Sant Kabir Das ฯลฯ
เดินถัดมาอีกหน่อยเราจะเจอรูปปั้นช้างสูงใหญ่จำนวน 62 ตัว ยืนตระหง่านริมทางเดินที่พุ่งตรงสู่แท่นน้ำตก มีแผนที่อนุสรณ์พร้อมรูปปั้นอีก 2 บุคคลสำคัญ โชคดีที่เราเดินมาเห็นในช่วงพระอาทิตย์ตกพอดี เลยได้โมเมนต์เมจิกเอาเออร์ สวยสะกดจนแทบลืมหายใจ ด้วยพื้นกระเบื้องเงางามที่คอยสะท้อนวัตถุด้านบนที่เคลื่อนไหวไปมา ไปจนถึงแสงสีส้มระยิบระยับ ถ่ายมุมย้อนแสงแล้วดูโรแมนติกสุด ๆ
ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อเราข้ามฝั่งจากโดมหลัก ผ่านเหล่าช้างมาก็จะเจอกับเวิ้งกว้างทรงกลม ประดับประติมากรรมที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองอันสำคัญของอินเดีย ซึ่งเป็นจุดที่คนน้อย บรรยากาศเงียบสงบที่สุด น่ามาเดินถ่ายรูปนั่งชิลก่อนฟ้ามืด แต่ที่นี่ยิ่งมืดยิ่งคึกคัก เพราะชาวเมืองเขาทยอยมาเดินเล่น นั่งพักผ่อน ชมงานไฟที่เปิดประดับตามโดมตามเสา โดยรวมแล้วเป็นบรรยากาศที่สนุกปนอบอุ่นมากทีเดียว
Day 3
010 The Residency, Lucknow
เช้านี้เรามาเติมเต็มความว้าวกันต่อที่ ‘The Residency, Lucknow’ อีกมหัศจรรย์สถาปัตยกรรมแห่งลัคเนา เต็มไปด้วยเรื่องราวสมัยอังกฤษยึดครองลัคเนา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 1780-1800 โดย Nawab Asaf-ud-Daulah มาเสร็จสมบูรณ์ช่วง Nawab Saadat Ali Khan ซึ่งถือเป็นมหาเศรษฐีคนแรกของแคว้น Awadh หลังจากนั้นไม่กี่ปี ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางของบุคลากรชาวอังกฤษและกลายเป็นที่อยู่ของนายพลอังกฤษที่ปกครองแคว้นในสมัยนั้น จนถึงปี 1857 ที่เกิดสงครามกลางเมือง ทำให้ที่นี่ได้รับความเสียหายจากอาวุธหนัก มีทั้งร่องรอยกระสุนปืนและเศษซากให้เห็นจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นที่ฝังศพของทหารราว ๆ 2,000 นาย ผู้สละชีวิตในช่วงสงครามนั้นด้วย
อ่านประวัติว่าเอ็กซ์ตรีมแล้ว มาดูเรื่องการออกแบบจะทึ่งยิ่งกว่า ด้วยความยิ่งใหญ่ของกลุ่มอาคารที่แทบจะเรียกว่าเป็นเมืองโบราณได้เลย ทุกจุดเปี่ยมมนต์ขลังไปด้วยงานออกแบบสไตล์ European และ Indo-Islamic ที่มีทั้งอาคารพักอาศัย ห้องจัดเลี้ยง คลังสมบัติ โบสถ์ พิพิธภัณฑ์ ระหว่างจุดต่าง ๆ มีธรรมชาติปกคลุม ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แซมด้วยดอกไม้คอยแต่งแต้มความสดใส เพลินกับเสียงนกร้อง น้องกระรอกวิ่งซนมาให้เห็นเป็นระยะ กลายเป็นอีกแลนด์มาร์กที่ผู้คนชอบเข้ามาเดินเล่น นั่งปิกนิกกัน
011 Tunday Kababi
มาถึงอินเดียถ้าไม่กินอาหารพื้นเมืองก็เท่ากับว่ามาไม่ถึง สำหรับลัคเนา ร้านที่ไม่ควรพลาดคือ ‘Tunday Kababi’ ร้านอาหารชื่อดังระดับประเทศ เปิดมานานกว่า 118 ปี ที่มีประวัติมาตั้งแต่รุ่นปู่ ผู้พิชิตโจทย์สุดหินของ Nawab แห่งราชวงศ์ลัคเนาที่สูญเสียฟันทั้งหมดไป โดยเขาต้องการสูตรอาหารที่ใกล้เคียงกับเคบับในรูปแบบที่คนไม่มีฟันสามารถกินได้ จนเกิดเป็นจานซิกเนเจอร์ที่ได้รับการยอมรับจาก Nawab ผู้นั้น และกลายเป็นเมนูที่คนทั่วอินเดียตั้งใจเดินทางมาเพื่อลิ้มลองจวบจนปัจจุบัน และด้วยคุณปู่เป็นผู้พิการทางมือที่มีชื่อเรียกว่า Tunday ซึ่งก็คือที่มาของชื่อร้านนั่นเอง
อาหารของที่ร้านนั้นมีส่วนผสมเครื่องเทศกว่า 160 ชนิด เป็นสูตรลับเฉพาะครอบครัวที่ยากจะเลียนแบบ โดยเฉพาะ ‘Tunday Galawati Mutton/Beef Kebab’ มีให้เลือกเนื้อควายและแกะนำมาบดละเอียดผสมอินเดียเฮิร์บ ปั้นเป็นก้อนแล้วทอดบนกระทะ จัดเสิร์ฟพร้อมหอมแดง พริก กินคู่กับแป้งนาน เท็กซ์เจอร์ของเนื้อนั้นนุ่มละลายแบบใช้แค่ลิ้นดุนก็สามารถกลืนลงคอได้ ส่วนแป้งร้านเขาก็ทำได้เหนียวนุ่มเนื้อบางเบาไม่หนักท้อง แล้วยังมีเมนูเบสิกอย่าง ‘Chicken Tikka’ ไก่แสนละมุนย่างพร้อมสมุนไพรที่ไม่ฉุนจนเกินไป และเมนูที่ลองสุ่มสั่งมาแล้วดันอร่อยสุด ๆ ‘Chicken Biryani’ ข้าวหมกไก่ที่ใช้ข้าวบาสมาตีนุ่มหนึบ หอมกลิ่นกระวาน อบเชย เผ็ดร้อนนิด ๆ กินกับแกงแล้วมันเดอะเบสต์มาก
012 The Hazelnut Factory
แล้วก็ถึงเวลาของสายฮอปที่เราจะพามาล่าคาเฟ่กันแบบเบา ๆ แต่จัดหนักทุกร้าน เริ่มที่ ‘The Hazelnut Factory’ ร้านแสนชิคที่เปลี่ยนอินเดียนสตรีท ให้กลายเป็นถนนสไตล์ยุโรปได้ในพริบตา คาเฟ่ร้านนี้ถือเป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ Uttar Pradesh มีคอนเซปต์เป็นร้านที่ครบจบเรื่องของหวาน ไม่ว่าจะเป็นขนมอบ ครัวซองต์ ขนมปัง เค้ก และขนมอินเดีย ที่เน้นความพิถีพิถันในโรงงานขนาดใหญ่ ควบคุมคุณภาพทุกชิ้น จนได้ขนมหน้าตาสวยงามมาพร้อมกับรสชาติแสนดี พร้อมด้วยเมนูเครื่องดื่มอันหลากหลายที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้
เริ่มจากขนมแปลกตาที่หากินไม่ได้แน่นอนในไทยก่อน กับเหล่าของหวานอินเดียที่ทางร้านวางขายเป็นคำ ๆ ชิ้นที่เราลองแล้วประทับใจคือ ‘Choco Hazelnut Delight’ ให้ฟีลลิ่งถั่วคาราเมลกลิ่นฮาเซลนัท หวาน ๆ นัว ๆ ‘Osh Al-bul Bul’ แป้งเส้นเล็ก ๆ ทรงคล้ายรังนกจิ๋วทอดกรอบ ภายในอัดแน่นไปด้วยธัญพืชเชื่อม หวานกรอบเคี้ยวเพลิน หรือจะเป็นขนมที่ทำจากนมแพะ ซึ่งจะมีความหวานมาก ๆ ริชมากแล้วแต่คนชอบ ส่วนชิ้นที่เพลย์เซฟสุดคือครัวซองต์อัลมอนด์ ที่กินแล้วรู้สึกได้ถึงความสดใหม่ กรอบนอกนุ่มในหอมกลิ่นเนยกินตัดกับ Cold Coffee รสชาติหวานละมุนเข้มข้นฟีลลิ่งเอสเย็นของไทยแล้วดีงามสุด ๆ
013 Royal Cafe
ร้านสุดท้ายของทริปแต่เป็นร้านที่เปิดประสบการณ์แรกกับขนมอินเดียประเภทโยเกิร์ต ‘Royal Cafe’ อีกเครือร้านอาหารชื่อดังของ Uttar Pradesh จัดเสิร์ฟอาหารอันหลากหลาย ที่เน้นความเป็น Traditional Lucknow มองจากด้านหน้าเหมือนจะเป็นร้านอาหารสตรีทฟู้ดธรรมดา มีกระทะทอด โซนย่าง พร้อมพ่อครัวยืนทำอาหารหม้อใหญ่แบบไม่หยุดมือ เมื่อเดินลึกเข้าไป เราจะเจอโซนร้านสุดยิ่งใหญ่ ที่สามารถจุลูกค้าได้หลายสิบโต๊ะ รองรับได้ทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ คิดว่าถ้ามาช่วงเย็นบรรยากาศน่าจะคึกคักน่าดู
เมนูดังของร้าน ‘Basket Chaat’ ของหวานที่สร้างความเอ๊ะ! ตั้งแต่จัดเสิร์ฟ กับหน้าตาที่เหมือนจะเป็นของคาว ด้านล่างคือมันฝรั่งทอดที่ทำเป็นตะกร้า จัดวาง papdi เวเฟอร์กรอบชิ้นเล็ก ๆ Aloo Tikki มันฝรั่งบด bhalle แป้งก้อนกลมทอดนุ่ม ๆ กินกับโยเกิร์ตที่ราดมาฉ่ำ ๆ รสเปรี้ยวหวาน มีโทนมะขามนิด ๆ เย็นชื่นใจ พร้อมกลิ่นเครื่องเทศหลายชนิดโชยตีจมูก มีความเผ็ดเล็ก ๆ ผุดขึ้นที่ปลายลิ้นเบา ๆ เอาจริง ๆ คนที่ชอบอาหารอินเดียจะต้องชอบขนมถ้วยนี้ แต่ถ้าเป็นคนกินยากก็ลองสั่งมาเป็นประสบการณ์ได้เลย ถือเป็นมื้อปิดจบทริปที่แสดงคาแรกเตอร์ลัคเนาได้สมมงสุด ๆ
ลัคเนาถือเป็นอีกเมืองใหญ่ของอินเดียที่เราไม่อยากให้มองข้ามไปเลยจริง ๆ ด้วยความที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เยอะมาก ทำให้ผู้คนค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ไม่ค่อยวิ่งเข้าหาเหมือนเมืองป็อป ๆ ออกจากเขินเราซะด้วยซ้ำ มันทำให้เราเห็นความน่ารักของอินเดียอีกมุมหนึ่ง แถมที่เที่ยวยังอยู่ไม่ไกลกันมาก แต่ละสถานที่ก็อลังการระดับประเทศทั้งนั้น ค่าครองชีพไม่แพง ใครมีวันหยุดสัก 3 วัน ก็ลองแวะมาเที่ยวเล่นกันดู แล้วเดี๋ยวรอบหน้าเราจะพาไปอินเดียเมืองไหนอีก อย่าลืมติดตามกันไว้นะ