รีวิวชุมชนบ้านโคกไคร :: ท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร จังหวัดพังงา ( One day trip )

เพราะทุกการเดินทางไม่ได้มีแค่จุดหมายปลายทาง

แต่มีเรื่องเล่า … จากถนนที่คดเคี้ยว มีเรื่องราว … จากทุกเสียงที่พูดคุย มีรสชาติ … จากอาหารที่หลากรส และก็มี …ในทุก ๆ อย่างที่ทั้งคาดคิดและไม่คาดคิด ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ หลวมรวมกันจนออกมาเป็น … ความทรงจำ

วันนี้เราก็มีอีกความทรงจำจากการเดินทางแบบวันเดย์ทริป ที่บอกเลยว่าหลากรสและลึกซึ้งจนอยากชวนทุกคนมาดื่มด่ำไปด้วยกัน ที่นี่คือ “บ้านโคกไคร” หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมคลองมะรุ่ยในจังหวัดพังงา ที่มีประสบการ์ณใหม่ ๆ กำลังตั้งหน้ารอให้ทุกคนมาค้นหา ไม่ว่าจะเป็นวิถีประมงพื้นบ้านที่ชวนอนุรักษ์ สปาโคลนร้อนที่ชวนให้ผ่อนคลาย ดอนหอยตลับที่ชวนให้ร้องว้าว กองทัพปูมดแดงที่ชวนให้ตื่นเต้น อาหารทะเลสดใหม่ที่ชวนน้ำลายสอ ป่าชายเลนและลากูนที่ชวนให้สูดหายใจเข้าเต็มปอด ไปจนถึงภาพเขียนโบราณในตำนาน ณ ถ้ำผีหัวโตที่ชวนให้จับจ้อง

ดังนั้นใครที่มาพังงาหรือภูเก็ต ถ้าอยากหาอะไรเด็ด ๆ ที่แปลกใหม่และไฉไล เราขอแนะนำให้ไป “บ้านโคกไคร” นี่ล่ะจ้า

“บ้านโคกไคร” เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมคลองมะรุ่ย ในตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ยึดหลักวิถีการผลิตที่พึ่งพาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงพื้นบ้านและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่เนื่องด้วยเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และหลากหลาย ทำให้ที่นี่กลายมาเป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัด ที่พร้อมจะมอบความอบอุ่นเป็นกันเอง ความรู้ และกิจกรรมสนุกหลากหลายให้กับทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาเยือน

ที่นี่มีกิจกรรมให้เลือกทำร่วมกับชุมชนหลากหลาย ทั้งสปาธรรมชาติจากหาดทรายร้อน กิจกรรมที่สันดอนทรายซึ่งไม่สามารถเห็นได้ทุกวัน ขึ้นอยู่กับข้างขึ้นข้างแรมล่องเรือคายัคชมสมุนไพรป่าชายเลนในลากูนไปจนถึงถ้ำลอด, กิจกรรมเที่ยวชมถ้ำผีหัวโต ชมภาพเขียนโบราณที่หาดูได้ยาก รวมไปถึงไปชมกองทัพปูมดแดงมาเดินเล่นที่หาดตั้งเลน ซึ่งแต่ละโปรแกรมท่องเที่ยวจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฟ้าฝน และระดับน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละเดือน ใครอยากเที่ยวเต็มวันโปรแกรมแน่น ๆ หรือจะเลือกแค่บางกิจกรรมไปเที่ยวแค่ครึ่งวันก็ทำได้เช่นกัน แต่ก่อนเดินทางอย่าลืมสอบถามข้อมูลจากชุมชนและนัดล่วงหน้าก่อนด้วยนะ จะได้ไปแล้วไม่เสียเที่ยว เอาล่ะ … ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาดูกิจกรรมตัวอย่างที่ทางเราได้คัดสรรมาแล้วว่าเด็ดได้เลยจ้า

หกนาฬิกาตามเวลานัดของพี่สมพร (หัวหน้ากลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร) เราเดินทางมาถึงท่าเรือเพื่อลงเรือหัวโทง เรือไม้ท้องถิ่นของจังหวัดพังงา ที่พร้อมจะพาเราค่อย ๆ ล่องผ่านลำคลองมะรุ่ย ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามของแนวป่าชายเลนที่สมบูรณ์ พร้อมกับท้องฟ้าที่ค่อย ๆ เปลี่ยนสีจากดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น เราจะได้มองเห็นแสงแรกของวันผ่านทิวเขาหินปูนที่เต็มไปด้วยหมอกลอยละล่องจากความชื้นในยามเช้า ได้เห็นแสงสะท้อนบนผิวน้ำไล่เฉดสีสวยงามแปลกตา เป็นภาพแรกที่เราได้สัมผัสและรู้สึกประทับใจมาก ๆ เลยทุกคน

ระหว่างทางเรือก็ล่องผ่านบ้านเรือนชุมชนที่อยู่ริมทะเล ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของของชาวบ้านที่เรียบง่าย รวมถึงเห็นวิธีการทำฟาร์มหอยนางรม และหอยแมลงภู่หอยโดยใช้ยางล้อมอเตอร์ไซต์อันเก่ามาผูกไว้กับไม้และปักลงไปในพื้นทรายใต้รอยแยกของเปลือกโลก เพื่อให้หอยที่ลอยตามกระแสน้ำมาติดและเกาะอยู่ที่ยางล้อเหล่านี้ พี่สมพรเล่าว่าคนที่นี่เค้าจะคำนึงถึงคุณภาพของน้ำเป็นอันดับแรก จะไม่ให้มีขยะหรือสิ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำเลย เพื่อให้ธรรมชาติยังคงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งเรามั่นใจว่ายังไม่มีใครรู้ว่า จริง ๆ แล้วบ้านโคกไครนี่แหละคือแหล่งผลิตหอยนางรมอันดับแรกตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ก่อนส่งออกไปเลี้ยงต่อยังจังหวัดสุราษฎร์ธานีจนโตกลายเป็นหอยใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากลิ้มลอง

ล่องเรือมาไม่นานเราก็จะเริ่มเห็นควันขาว ๆ ลอยพวยพุ่งขึ้นมาบริเวณสันดอนทรายกลางทะเล ซึ่งควันที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ควันไฟที่ไหน แต่เป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น มันเกิดจากรอยแยกของเปลือกโลก ทำให้มีพลังงานความร้อนจากใต้ผืนดินแทรกตัวขึ้นมาเกิดเป็น “หาดทรายร้อน” หรือ “หาดโคลนร้อน” ตามที่ชาวบ้านเค้าเรียกกัน ซึ่งหาดทรายนี้จะมีก็เฉพาะช่วงที่น้ำลดในวันขึ้นและแรม 3 ค่ำ – 7 ค่ำเท่านั้น เดือนนึงจะสามารถเที่ยวได้เพียงแค่ 10 วัน เพราะงั้นใครอยากเดินทางมาเที่ยวหาดทรายร้อนนี้จึงจำเป็นต้องแพลนกันล่วงหน้าสักหน่อย

ลงเรือปุ๊บ เปลี่ยนผ้านุ่งปั๊บ จังหวะแรกที่เท้าเหยียบทรายเราก็สัมผัสได้ถึงไอความร้อนที่ลอยผ่านเม็ดทรายขึ้นมา พี่สมพรรีบบอกเราเลยว่า นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นของสปาโคลนธรรมชาติ โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการเปิดรูขุมขน ให้เราเดินย่ำทรายและโคลนไปเรื่อย ๆ ประมาณ 10 นาที แล้วไปล้างออกด้วยน้ำเย็นในลำคลอง จากนั้นก็จะมีชาวบ้านซึ่งเป็นหมอนวดนำโคลนร้อนที่อยู่ลึกลงไปจากดินเลนประมาณ 1 เมตร ซึ่งจะเป็นโคลนสีดำสนิทและอุณหภูมิกำลังพอดี พอกและนวดไปตามร่างกายตามจุดที่ต้องการ ชาวบ้านเชื่อว่าโคลนนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยจากการทำงานของกล้ามเนื้อ ใครรู้สึกปวดเมื่อยตรงไหนก็นวดจุดนั้นเป็นพิเศษได้เลย หรือถ้าใครอยากนอนแช่ตัวในบ่อโคลนก็สามารถทำได้เช่นกัน

พอพอกตัวตามจุดต่าง ๆ ที่ต้องการแล้ว เค้าก็จะมีเก้าอี้ให้เรานั่งพักรอโคลนแห้งประมาณ 15 นาที พร้อมรับเครื่องดื่มยามเช้าที่มีให้เลือกทั้งน้ำสมุนไพรใบขลู่ กาแฟร้อน ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับขนมพื้นบ้าน จากนั้นค่อยไปล้างโคลนออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งบอกเลยว่าหลังจากได้พอกโคลนร้อนแล้ว จะรู้สึกได้ถึงความสดชื่น ผ่อนคลาย สบายตัวมากขึ้น เหมือนเลือดลมหมุนเวียนได้ดี ส่วนในจุดที่มีการพอกโคลนร้อนนั้นก็รู้สึกว่าผิวชุ่มชื่นและนิ่มเนียนขึ้นอีกด้วย บอกเลยว่านี่เป็นมิติใหม่แห่งการท่องเที่ยวสำหรับเรามาก ๆ ทั้งสนุกและตื่นเต้นในเวลาเดียวกันเลย ใครอยากลองพอกทั้งตัวทั้งหน้าก็ได้น้า เค้ามีการตรวจสอบแล้วว่าโคลนพวกนี้ปลอดภัยต่อผิวไม่มีเชื้อโรคให้ต้องกลัวเลย

หลังจากสปาโคลนธรรมชาติไปแล้ว กิจกรรมต่อมา พี่สมพรพาเรามาชมแพกระชังเลี้ยงหอยโดยที่บ้านโคกไครเค้าจะเลี้ยงหอยตามธรรมชาติบนดินโคลนปนทราย ให้หอยได้หาอาหารเอง จากพวกแพลงก์ตอนขนาดเล็กที่น้ำทะเลพัดผ่านในแต่ละวัน ที่นี่มีทั้งหอยนางรมพันธุ์เล็กที่เรียกว่าหอยตีบ ไปจนถึงหอยนางรมพันธุ์ใหญ่ อย่างหอยตะโกรมกรามขาว และหอยตะโกรมกรามดํา รวมถึงหอยแมลงภู่ก็มีเช่นกัน ซึ่งทั้งหอยนางรมและหอยแมลงภู่ เค้าจะเลี้ยงด้วยวิธีแบบพวงอุบะแขวน โดยเริ่มจากพอหอยติดล่อตั้งแต่ตัวยังเล็ก เค้าก็จะแงะตัวหอยออกจากยางมอเตอร์ไซต์ มาประกบคู่กันและใช้ปูนซีเมนต์เป็นตัวเชื่อม โดยพี่สมพรเรียกวิธีนี้ว่าเป็นการจับหอยแต่งงาน จากนั้นก็ปล่อยติดไว้กับเชือกให้เติบโตตามธรรมชาติ

นอกจากกระชังหอยแล้ว บนแพเดียวกันก็มีธนาคารปูม้า ที่ก่อตั้งเพื่อให้ชาวบ้านที่จับได้แม่ปูไข่นอกกระดองนำปูมาฝากเลี้ยงจนกว่าปูจะปล่อยไข่จนหมด แล้วจึงจะสามารถนำแม่ปูไปขายได้ ไข่ที่ติดอยู่กับแม่ปูก็จะฟักตัวเป็นตัวอ่อน และกินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หลังจากนั้นจะถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ จนเติบโตเป็นปูขนาดใหญ่ต่อไป ทำให้จำนวนปูมีมากขึ้นและทรัพยากรธรรมชาติสมดุลมากขึ้นอีกด้วย

เงยหน้ามองฟ้าอากาศเป็นใจ ไร้เมฆฝน พี่สมพรชวนเรามานั่งเรือคายัคสำรวจลากูนและป่าชายเลน เรานั่งชมธรรมชาติไปเรื่อย ๆ ภายในป่าชายเลนที่เงียบสงัดจนสามารถได้ยินเสียงใบไม้ เสียงลม เสียงนกร้อง แม้แต่เสียงลมหายใจคนข้าง ๆ โดยระหว่างทางพี่สมพรพร้อมไกด์ท้องถิ่นจะคอยแนะนำสมุนไพรต่าง ๆ ที่ขึ้นริมป่าชายเลนให้เราฟัง มีทั้งต้นเป้งทะเล ต้นขลู่ ต้นแสมขาว ต้นแสมดำ ต้นแคทะเล ที่ล้วนแต่นำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาทำเป็นยารักษาโรคได้ทั้งนั้น

ยิ่งพายลึกไปเรื่อย ๆ เรายิ่งได้เจอต้นไม้แปลก ต้นไม้โบราณที่หาดูได้ยากมากขึ้น อย่างต้นนี้ เรียกว่า ‘ต้นชก’ มีลักษณะคล้ายต้นปาล์ม สูงประมาณ 20-25 เมตร ผลเป็นพวงทะลาย และชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน ดังนั้นกว่าจะได้ลูกชกมาในแต่ครั้งถือว่ายากลำบากมาก  นอกจากนั้นลูกชกยังได้รับฉายา ต้นลูกฆ่าแม่อีกด้วย เพราะเมื่อต้นมันออกลูกแล้ว 1 ครั้ง ก็จะไม่ออกลูกอีกเลยแล้วต้นก็ค่อย ๆ ตายลงไปในที่สุด พอเราได้ฟังพี่สมพรเล่ายิ่งรู้สึกทึ่งกับต้นนี้มาก พี่สมพรเลยบอกต่ออีกว่าลูกชกนี้สามารถเอาไปทำขนมหวานอย่างลูกชกในน้ำเชื่อม หรือน้ำตาลชกสดที่เป็นของดีของเด็ดของเมืองพังงาได้อีกด้วย

นอกจากนี้ระหว่างทางเราก็ยังได้เห็นวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนในชุมชน ที่ยังใช้พื้นที่ป่าชายเลนในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะตกปลา หาหอย สอยสมุนไพร บางคนก็พายเรือมาเก็บขยะทำให้ป่าชายเลนที่นี่ไม่มีขยะลอยตามน้ำเหมือนที่อื่น นักท่องเที่ยวมาก็ชอบใจ และมันทำให้เราตกหลุมที่นี่จริง ๆ ต้องบอกเลยว่าเป็นหนึ่งชั่วโมงที่สนุก ได้ทั้งความรู้ และความประทับใจ

และแล้วมื้อเที่ยงที่เรารอคอยก็มาถึง ทั้งหอยนางรมตัวใหญ่จากกระชัง ปูม้านึ่งเนื้อแน่น หอยแมงภู่อบ ห่อหมกปลาสูตรเข้มข้น ปลาทรายทอดขมิ้น หอยนางรมสด และแกงส้มปลามะพร้าวอ่อน พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บ ต่างถูกทยอยมาเสิร์ฟทีละจานจนเต็มโต๊ะ กินไปก็มองดูวิวทะเลและเขาหินปูนไปด้วย เลยเป็นมื้อกลางวันที่ดีงาม เรียกได้ว่าเป็นมื้อคุณภาพทั้งในเรื่องของรสชาติอาหารและฟีลลิ่งเลยละ

พออิ่มท้องเป็นที่เรียบร้อย ทางเราก็รับบทเป็นนักสำรวจน้อย ไปเดินเที่ยวใน “ถ้ำผีหัวโต”  หรือ “ถ้ำหัวกะโหลก” ที่ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ตัวถ้ำมีลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ห้องหลัก ๆ แต่ละห้องเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ซึ่งไฮไลต์ของถ้ำนี้ที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากมาชมก็คือภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำกว่า 100 ภาพ ที่บอกเล่าถึงเรื่องราว พิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในอดีตกว่า 3,000 ปีก่อน มีทั้งภาพคน ภาพสัตว์ ภาพมือ ภาพเรขาคณิต รวมถึงภาพเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ กระจายอยู่ทั่วถ้ำ ปัจจุบันทางอุทยานได้ทำทางเดินเป็นสะพานไม้ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ให้เราได้เดินเที่ยวสำรวจถ้ำง่ายขึ้น ไม่ต้องปีนไปตามหินเหมือนเมื่อก่อน เพราะงั้นไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถมาเที่ยวถ้ำผีหัวโตนี้ได้ทั้งนั้น

เมื่อเดินเข้ามาถึงปากถ้ำ พี่สมพรก็จะใช้ไฟฉายส่องไปที่เพดานและชวนเราเงยหน้าแหงนไปด้านบน ชี้ให้เห็นภาพเขียนที่โด่งดังที่สุดของที่นี่ เป็นภาพคนทะเล ที่มีลักษณะสวมหน้ากากและคลุมร่างกายในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชาวทะเล บางคนก็บอกว่านี่คือภาพของชุดแต่งงานผู้หญิงในสมัยก่อน เราว่าภาพนี้เป็นภาพเขียนที่ชัดและสมบูรณ์มาก เป็นภาพดังที่ใคร ๆ ก็ต้องมาชม จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

นอกจากนี้ตามเชิงผนังถ้ำก็ยังมี ภาพมือ ที่เขียนด้วยสีแดง ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า มือข้างหนึ่งนั้นมี 6 นิ้ว ตามความเชื่อโบราณว่า คนสมัยก่อนถ้ามีความผิดปกติของร่างกาย จะถือว่าเป็นคนพิเศษได้รับการยกย่อง เดินไปด้านในถ้ำก็จะเจอภาพเขียนสัตว์ต่าง ๆ อีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น นกฟินิกซ์  ไก่ ปลา ปลาหมึก จระเข้ เม่น และกุ้ง เรารู้สึกได้เลยว่าคนในชุมชนนี้ทุกคนหวงแหนและรักธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวมาก ๆ ไม่ว่าจะป่าชายเลน ทะเล ถ้ำภูผาต่าง ๆ ก็ช่วยกันดูแลรักษาให้ยังอยู่ให้สภาพที่ดีงาม จนนักท่องเที่ยวแบบเราเห็นแล้วก็รู้สึกใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและธรมชาติมากขึ้น

กิจกรรมส่งท้ายที่ห้ามพลาดของการมาเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร คือการมาชมฝูงปูมดแดงที่หาดตั้งเลน” หาดทรายขาวบริสุทธิ์ทอดยาวอยู่กลางทะเล ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงน้ำลดเท่านั้น ที่นี่เป็นที่ที่มีเจ้าปูมดแดงอาศัยเยอะที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยความที่ปูเป็นสัตว์ขี้อายบวกกับความตกใจง่าย เพราะงั้นเวลาเราเดินชมต้องค่อย ๆ เดินเบา ๆ หรือเทคนิคง่าย ๆ ให้เราไปนั่งนิ่ง ๆ รอสักพัก ปูมดแดงก็จะค่อย ๆ โผล่ตัวออกมาจากรูนับหมื่นรูให้ได้ชม พี่สมพรเล่าว่าปูมดแดงนี้มันชอบแสงแดด ยิ่งวันไหนแดดแรงอากาศปลอดโปร่งมันจะยิ่งชวนเพื่อนชวนครอบครัวออกมาอาบแดดบนผืนทรายกัน แต่ช่วงที่เราไปนั้นดันครึ้มฟ้าครึ้มฝนเลยได้เห็นปูมดแดงแค่บางกลุ่มให้พอชื่นใจเท่านั้น แต่บอกเลยว่าทัศนียภาพรอบ ๆ หาดตั้งเลนนี้ก็สวยงามมากเช่นกัน แค่ได้มาชมวิวกลางทะเลแบบนี้ก็ฟินแล้ว

หลังจากเที่ยวครบทุกกิจกรรมแบบ one day trip ไปแล้ว ชุมชนบ้านโคกไครนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผลิตจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านโคกไรค โดยนำภูมิปัญญาและของดีในท้องถิ่นมาแปรรูป สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ก็จะเป็นกุ้งย่างหรือกุ้งเสียบ ที่เมื่อก่อนจะผลิตในครัวเรือนเท่านั้น จากนั้นพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าโอทอป อีกทั้งยังมีสินค้าแปรรูปอื่น ๆ เช่น กะปิกุ้งเคย และเครื่องแกงใต้รสเด็ดต่าง ๆ ทั้งแกงกะทิ แกงส้ม แกงเผ็ด ทุกอย่างจะเน้นคัดสรรวัตถุดิบที่สด สะอาด และมีคุณภาพ แพคลงบรรจุภัณฑ์ที่เรียบร้อยสวยงาม ให้เราแวะซื้อ แวะช้อปเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ทางกรุงไทยได้ร่วมมือกับชุมชนออกแบบ วิจัย และพัฒนาสินค้า ช่วยออกแบบแพคเกจสินค้า ให้แพคเกจดูสวยน่าใช้มากขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจทั้งหมด 4 ชิ้น ทั้งน้ำสมุนไพรใบขลู่เพื่อสุขภาพจากต้นขลู่ในชุมชน, สบู่เปลือกหอยนางรม, สครับเปลือกหอยนางรมที่มาพร้อมสรรพคุณป้องกันแสงแดด และช่วยบํารุงผิวให้ชุ่มชื่น ลดรอยด่างดําได้โดยเนื้อสครับจะบางเบา ไม่บาดผิว และสุดท้ายคือสบู่เปลือกหอยนางรมผสมขลู่ ที่เป็นการผสมผสานคุณประโยชน์ของ 2 สิ่งเข้าด้วยกัน

และทั้งหมดทุกกิจกรรมที่เราได้กอบโกยความสุขอย่างเปี่ยมล้นนี้ ล้วนเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างชุมชน บ้านโคกไครและ กรุงไทยในการวางแผนพัฒนา เพื่อจัดการบริหารชุมชนให้ดีขึ้นจากสิ่งที่พวกเค้ามีแบบบูรณาการในหลาย ๆ ด้านให้พร้อมสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอย่างที่เราได้สัมผัสนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสินค้า OTOP ที่ทางกรุงไทยได้เข้ามาช่วยในการออกแบบแพคเกจสินค้าใหม่ให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น, ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ทางกรุงไทยก็ได้จัดทำป้ายทางเข้าให้น่าสนใจ และป้ายบอกทางให้มีความชัดเจน, ด้านศิลปะวัฒนธรรม กรุงไทยได้ช่วยโปรโมทและแนะนำสิ่งที่น่าสนใจภายในชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านสื่อต่าง ๆ, ด้านการตลาดก็ได้ทำการโปรโมทสินค้าและบริการของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง และด้านสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้ด้านอื่น ๆ นั่นก็คือ ด้านความรู้ทางการเงิน ที่ทางกรุงไทยจัดให้ชาวบ้านเปิดบัญชีกับกรุงไทย เพื่อรับ QR Code สำหรับสแกนจ่ายเงินได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยว พร้อม ๆ กับให้ความรู้เกี่ยวกับการออมเงิน

สำหรับเราการได้มาเที่ยวชุมชนบ้านโคกไครครั้งนี้ ต้องบอกว่าประทับใจมาก ๆ ลบภาพจำเกี่ยวกับการเที่ยวชุมชนแบบเดิม ๆ ที่คิดว่าคงน่าเบื่อไปหมดเลย จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับชุมขนเราก็รู้สึกได้จริง ๆ ว่าชาวบ้านมีความพร้อมและศักยภาพที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการดึงจุดเด่นของชุมชนออกมาได้ดีจนน่าหลงไหลและน่าท่องเที่ยว ดังนั้นสำหรับใครที่สนใจ ก็อย่ามัวรีรอ รีบมาตักตวงความสุข มาเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ร่วมกับชุมชนที่น่ารักนี้กันเถอะ หากสนในมาเที่ยว หรือสนใจสินค้าของชุมชน ที่ชุมชนโคกไคร จังหวัดพังงา สามารถติดต่อพี่สมพร (หัวหน้าชุมชน) ได้ที่เบอร์ 087-886-0465