ช่วงนี้แม้อยู่แค่บ้าน ใครหลายคนก็ยังคันจมูกยุบยิบ จะหยิบจับอะไรก็หายใจไม่ค่อยจะออก เหมือนโดนหมอกเข้าปกคลุม ไอ้ครั้นจะนั่งรอให้ฟ้าสั่งฝนหรือคนสั่งฟ้าก็ดูท่าจะเป็นการรอคอยโชคชะตามากเกินไป อย่ากระนั้นเลยหยิบกระเป๋า สะพายกล้อง ออกเดินทางตามเรามาแบบด่วนจี๋ หนีฝุ่นควันที่ลอยคลุ้งฟุ้งไปทั่วท้องฟ้า แล้วออกไป “หยิบหมอก หยอกดอกไม้ สัมผัสธรรมชาติที่อุทัยธานี” กับเราที่หมู่บ้านบนความสูงกว่า 300-700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ณ บ้านแก่นมะกรูด เพื่อเดินเล่นชมทุ่งดอกลิลลี่ กับเหล่าดอกไม้เมืองหนาว ชิมสตรอว์เบอร์รีสดๆ จากต้น และเรียนรู้วิชาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนจะกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและรอยพระพุทธบาท ณ ศาลาไม้ทรงไทย
ออกไปใช้เวลา 24 ชั่วโมง ให้มีค่าไม่ต้องรอฝนรอฟ้าก็หาอากาศดีๆ สูดได้ง่ายๆ ด้วยกันเถอะ
• ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง
หลังจากล้างหน้าล้างตา และจามไปสองทีก็เป็นเวลา 6.30 น. ฤกษ์งามยามดีที่เราจะออกเดินทางจาก กทม. เพื่อมุ่งหน้าสู่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี หมู่บ้านที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทำให้มีอากาศหนาวเย็นคล้ายภาคเหนือตลอดทั้งปี เดิมทีที่นี่เป็นชุมชนของชาวกระเหรี่ยงโปว์ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเกษตรกรและมีการทำการท่องเที่ยวเชิงชุมชนสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักในธรรมชาติด้วย อ่านที่มาที่ไปและเม้าท์มอยกับเพื่อนแบบเพลินๆ ผ่านไป 4 ชั่วโมง ก็เดินทางถึงที่หมายแรกของเรา ณ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง แปลงปลูกดอกไม้นานาชนิดโดยเฉพาะดอกไม้เมืองหนาวตัวแทนแห่งความรักที่นุ่มนวลอ่อนหวานอย่างดอกลิลลี่ขาว ที่ทางภาครัฐร่วมกันจัดสรรขึ้นมาเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของบ้านแก่นมะกรูด
อากาศเย็นๆ ท้องฟ้าที่ปราศจากหมอกควัน และดอกไม้ที่ชูช่อไสว นอกจากจะทำให้อาการคันยุบยิบที่จมูกของเราหายไปจนหมดสิ้นแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกได้ว่าประเทศไทยของเรายังมีอีกหลายสถานที่ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีทั้งกับนักท่องเที่ยวและชุมชนเอง
หลังจากชมดอกไม้จนฉ่ำปอดและถ่ายรูปจนฉ่ำใจแล้ว เราก็ไปชมการสาธิตการปลูกสตรอว์เบอร์รี หนึ่งในผลไม้ยอดนิยมของคนไทย ด้วยวิธีการขยายพันธุ์แบบ “การไหล” หรือการปลูกด้วยการนำส่วนที่เจริญเติบโตจากต้นแม่ของสตรอว์เบอร์รี เช่น ส่วนลำต้น หรือข้อของต้น มาปักลงดินและเลี้ยงดูเพื่อให้เกิดต้นใหม่จากหน่อเดิม ก็สามารถได้ต้นใหม่ที่แข็งแรงและออกผลได้ ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ทำในสิ่งที่ตนรัก ศึกษาและสั่งสมความรู้จากการปฏิบัติจริง เจ้าสตรอว์เบอร์รีลูกจิ๋วก็แตกใบออกลูกสีขาวบ้างแดงบ้างมาอวดโฉมจนอดไม่ได้ที่เราจะต้องลิ้มลองสักสอง สาม สี่ ห้า ผลกันซะหน่อย
ด้วยความที่อากาศดี ดินสมบูรณ์ พืชพันธุ์งอกงามทำให้ชาวบ้านหลายๆ คนที่อยู่บริเวณศูนย์พัฒนาแห่งนี้เปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ในราคาเริ่มต้นเพียง 300 บาท พร้อมอาหารเช้าอยู่หลายหลัง เหมาะแก่การมาพักผ่อนแบบชิลๆใกล้ชิดธรรมชาติและไม่ลำบากลำบนจนเกินไป แนะนำให้จัดชุดเดรสยาวๆ สีขาวหรือสีสดตามชอบกับพร็อพที่เน้นแนวธรรมชาติอย่างหมวกสาน กระเป๋าที่ทำจากกก เดินเท้าเปล่า ถ่ายรูปชิคๆ และหากใครอยากเพิ่มประสบการณ์และมิติให้การท่องเที่ยวเข้าไปอีก เค้าก็มีที่พักชวนฝันหรือบ้านต้นไม้ให้เลือกพักด้วย จะนอนกินลมชมฟ้าก็เลิศ จะนั่งเล่นปล่อยเวลาไปเปล่าๆ ก็ดีงามจนไม่รู้สึกเสียดายเวลา
• สวนพฤกษศาสตร์แก่นมะกรูด
จุดหมายถัดมาคือ สวนพฤกษศาสตร์แก่นมะกรูด แค่ชื่อก็รู้สึกถึงความสดชื่นและอลังการงานสร้างอย่างแน่นอนแล้ว พอได้เห็นของจริงยิ่งรู้สึกสดชื่นและอลังการจนอดไม่ได้ที่จะเดินชมดอกนู้น แล้วย้ายไปดอกนี้ ถ่ายรูปให้ครบทั้งมุมก้มมุมเงยแบบรัวๆ เพราะมันแสนจะสดใสวัยรุ่นชอบแบบสุดๆ แถมอากาศก็เย็นสดชื่นจนอยากจะหยิบกระปุกออกจากกระเป๋าแล้วเอาอากาศของที่นี่แพ็คกลับไปใช้ต่อที่บ้านด้วยเลย
โดยโครงการไม้ดอกเมืองหนาวที่แก่นมะกรูดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก อบจ. อุทัยธานี ที่กระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่ม พออยู่พอกิน ป้องกันการบุกรุกป่า นอกจากได้ชื่นชมดอกไม้นานาพรรณและถ่ายรูปจนหนำใจแล้ว ก่อนไปจุดหมายถัดไปเราก็ไม่ลืมจะแวะชม ช้อป ผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านโดยตรงในราคามิตรภาพแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ผัก ผลไม้ สมุนไพรต่างๆ ได้ที่นี่อีกด้วย
• ไร่อุ๊ยกื๋อ
ช้อปจนปวดแขนแต่กระเป๋าตังยังแน่นเหมือนเดิม ความต้องการคาเฟอีนก็นำเรามาสู่ ไร่อุ๊ยกื๋อ ของนายวันนบ ขอสุข ที่ได้เปลี่ยนที่ดิน 23 ไร่ที่เคยปลูกแต่ข้าวโพดและใช้สารเคมีทำร้ายหน้าดิน มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยการทำนาข้าว ขุดหนองและคลองไส้ไก่เพื่อเลี้ยงปลา และเป็นการทำการชลประทานในสวนของตัวเอง ปลูกไม้ 5 ระดับ และปลูกกาแฟอาราบิก้า
นอกจากนี้เค้ายังจัดสรรพื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นพื้นที่กางเต๊นท์ และร้านกาแฟให้เราได้นั่งจิบกาแฟหอมกรุ่นและชมแปลงผักแบบ 360 องศา ไปพร้อมๆ กัน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือนำทาง ทำให้เกิดการสร้างรายได้และลดรายจ่าย คนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล บรรเทาปัญหาการบุกรุกป่าห้วยขาแข้งได้
• ไร่สีฟ้า
ทั้งชมและชิมมาพอสมควรแต่ก็ยังไม่จุใจเราเลยต้องขอไปชิมและช้อปต่อกันแบบแน่นๆ เน้นๆ ที่ ไร่สีฟ้า ไร่ที่ปลูกผักเมืองหนาวและสตรอว์เบอร์รี รวมถึงยังเป็นจุดรวบรวมและจำหน่ายสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ข้าวเหนียวดำลดความมันบนใบหน้า แชมพูดอกอัญชันให้ผมดำขลับ หรือจะเป็นพืชผลทางการเกษตร จะช้อปแบบที่เก็บมาสดๆ หรือจะลงมือเดินลุยไร่แล้วเลือกเฟ้นเองก็ได้ฟินส์สุดอะไรสุด กระซิบเลยว่าสตรอว์เบอร์รีหวานฉ่ำจัมโบ้เอมากกกกกก มากกกกกกกจนอยากจะยกไร่มาไว้ที่สวนหลังบ้านเลยแก
• วัดถ้ำเขาวง
ไปลามาไหว้คือสมบัติของชาวไทย ก่อนกลับบ้านเราเลยแวะนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและรอบพระพุทธบาทที่ วัดถ้ำเขาวง วัดดังของจังหวัดอุทัยธานีกันสักหน่อย นอกจากวัดจะดังเรื่องความศักดิ์สิทธิ์แล้ว สถาปัตยกรรมของที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลให้ชื่อเสียงของที่นี่กำจรกระจายไปไกลกว่าเดิม เพราะตัวศาลาเรือนไม้ทรงไทย 4 ชั้น สีน้ำตาลเข้มทั้งหลังที่ตั้งอยู่ริมน้ำและโอบล้อมด้วยป่าไม้ใบเขียวและเขาหินปูน คือความงามที่ยากจะบรรยาย เรือนไทยที่ดูสวยงามแปลกตาแต่ทว่ากลับรู้สึกคุ้นเคยนั่นก็เป็นเพราะว่าเค้าสร้างมาจากทรงของศาลพระภูมิจนกลายมาเป็น Unseen Thailand นั่นเอง นอกจากนี้หากใครเป็นสายลุยและพอจะมีเวลาสักหน่อย ภายในวัดยังมีถ้ำต่างๆ อีกหลายถ้ำให้เข้าไปชมความงาม หรือจะเข้าไปเพื่อปฏิบัติธรรมกรรมฐานก็ได้เช่นกัน ดังนั้นใครที่อยากจะไปเดินสำรวจก็ควรจะไปด้วยความสำรวม ส่วนเราเวลาหมดซะก่อนเลยไม่ได้เข้าไปสำรวจตรวจสอบอะไร แต่ถ้ามาคราวหน้ารับรองว่าจะไม่พลาดแน่นอน
ทริปจบอารมณ์ไม่จบเพราะความฟินส์จากผลผลิตอันสดใหม่ ไร้มลพิษทำให้เราเคลิบเคลิ้มจนอยากจะย้ายทุกไร่ทุกสวนมาไว้ที่บ้าน แต่ก็ได้แค่ทำใจ โชคดีที่แต้มบุญเราสูงพอและบางจากเค้าใจป้ำ ที่มีผลผลิตสดใหม่จากเกษตรกรพร้อมเสิร์ฟในร้านมินิมาร์ทสพาร์ภายในปั๊มน้ำมันบางจาก ที่นี่เน้นขายแต่อาหารที่สดใหม่ fresh & easy food คุ้มค่า คุ้มราคา อย่างปัจจุบันก็มีผัก ผลไม้มาวางขายให้ได้ลองชิม และในอนาคตก็อาจจะมีพืชผักเมืองหนาว รวมถึงน้ำอ้อยคั้นสดหวานๆ จากชาวบ้านแก่นมะกรูดมาวางจำหน่ายในมินิมาร์ทแห่งนี้เพิ่มอีกก็ด้วย ทำให้เราได้ชิม ได้ช้อปของดีแบบใกล้ๆ บ้าน แบบสบายๆ ในมินิมาร์ทสพาร์แห่งนี้ และนอกจากนี้บางจากฯ ยังสนับสนุนชาวบ้านแก่นมะกรูดร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เพื่อพัฒนาที่ทำกินของเกษตรกรให้มีแหล่งน้ำเพียงพอ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรายได้และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาสังคมสีเขียวและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย เช่นเดียวกับที่บางจากฯ ยึดมั่นในการเป็นกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมสีเขียวรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แก้ว bio cup ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในร้านกาแฟอินทนิล หรือการใช้ฝาแก้วโดยไม่ใช้หลอด โดนใจสายอนุรักษ์ ไม่ขัดใจสายรักสบาย ดีต่อใจและสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะฟอกปอดแล้ว 24 ชั่วโมง ในทริปนี้ยังทำให้เราเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกครั้ง แม้เราจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้ แต่เราก็เป็นจุดเล็กๆ ที่จะแก้ไข สนับสนุน ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง ทั้งแก้ไขด้วยการลดใช้ขยะ แยกขยะ ทิ้งขยะให้เป็นที่ สนับสนุนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เน้นวัสดุจากธรรมชาติ ส่งเสริมด้วยการเลือกร้านค้าและผลิตภัณฑ์จากชุมชน ท่องเที่ยวแบบไม่ทำลายธรรมชาติ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ เราเชื่อว่าถ้าร่วมกันทำคนละไม้คนละมือก็จะกลายเป็นความยั่งยืนให้กับโลกของเราได้