“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” คำกล่าวที่ดูเหมือนเลื่อนลอยเว่อร์วัง แต่ใครรู้มั่งว่ามันเป็นเรื่องจริงแบบ 100% เพราะโลกของเรานั้นเชื่อมโยงถึงกัน จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง จากดอกไม้ดอกหนึ่งถึงดอกไม้อีกดอกหนึ่ง เหมือนกับเพลงที่เราร้องกันตั้งแต่เด็กว่า ฝนเอ่ยทำไมจึงตกๆ จำเป็นต้องตกเพราะว่ากบมันร้อง กบเอ่ยทำไมจึงร้องๆ จำเป็นต้องร้องเพราะว่าท้องมันปวด…. มันเป็นเพลงที่ไม่มีจุดเริ่มและไม่มีจุดจบเหมือนกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมนี่ล่ะ และหากวันนี้เรายังเมินเฉยไม่รับรู้ต่อผลกระทบที่เราเป็นคนทำต่อหลอดหนึ่งอันที่เราใช้ ต่อพลาสติกหนึ่งใบที่เรารับ ต่อโฟมหนึ่งชิ้นที่เราทิ้ง เพียงเพราะมันยังไม่ได้เกยมาจนถึงหน้าบ้านเรา อีกไม่เกินสิบปีเราคงได้ลงไปแหวกว่ายในมหาสมุทรแห่งขยะ ได้กินอาหารที่ปนเปื้อนพลาสติกและโลหะหนักแบบเลี่ยงไม่ได้ ถ้ายังนึกไม่ออกว่าเราจะมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมยังไง ตามเราไปเรียนรู้ธรรมชาติใกล้ตัวฉบับ 101 ที่ “เกาะยาวใหญ่” เพื่อร่วมรักษ์โลกด้วยกันเถอะ …
เช้าตรู่วันนี้เราตื่นมาพร้อมกับความหวังพิเศษในใจไม่ใช่เป็นเพราะว่าเรากำลังจะได้ไปเที่ยวที่ใหม่ๆ เหมือนทุกครั้ง แต่เป็นเพราะเรากำลังจะได้ไปร่วมเรียนรู้และรักษาสถานที่ท่องเที่ยว อันเป็นที่ๆ จะสร้างความสุขให้กับเราอย่างยั่งยืนต่างหาก หลังจากทานมื้อเช้าเรียบร้อยก็ได้เวลารวมพลของเหล่าผู้ที่กำลังจะไปเรียนรู้ธรรมชาติใกล้ตัวฉบับ 101 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการเดินทาง “ตามน้ำ” ในปี 2560 ที่จัดขึ้นโดย โคคา-โคลา #CocaCola เพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเน้นไปที่กลุ่มคนเมือง โดยปีนี้ โคคา-โคลา ได้รับความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเดอะคลาวด์ รวมถึงชุมชนเกาะยาวใหญ่ในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
01 :: ศึกษาระบบนิเวศชายหาด ณ แหลมหาด
ที่ท่าเรือบางโรง (ภูเก็ต) พวกเราต่อเรือเพื่อมุ่งหน้าสู่เกาะยาวใหญ่ จุดศูนย์กลางระหว่างจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อไปศึกษาระบบนิเวศชายหาด ณ แหลมหาด โดยตลอดพื้นที่บนชายหาดที่ยาวสุดลูกหูลูกตานี้เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างผืนดินกับท้องทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศค่อนข้างสูง เพราะชายหาดบริเวณนี้อุดมไปด้วยหญ้าทะเล ที่นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของปูลม ปูเสฉวน และปูทหาร นับพัน นับหมื่นตัวในบริเวณนี้แล้ว ยังถือเป็นปราการด่านแรกที่กรองสิ่งต่างๆ ก่อนลงสู่ทะเลอีกด้วย แต่ปัญหาที่เราพบในบริเวณนี้ก็คือปัญหาขยะจำนวนมากที่เกิดมาจากทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้น การขยายตัวของชุมชน และสาเหตุที่สำคัญที่สุด คือระบบจัดการขยะที่ยังไม่สมบูรณ์นัก และในช่วงฤดูมรสุม ยังมีขยะจำนวนมากที่ถูกพัดเข้ามาจากแผ่นดินใหญ่ รวมไปถึงประเทศใกล้เคียงอีกด้วย ทำให้บางส่วนของชายหาดที่สวยงามนี้ดูหม่นหมองลงไปถนัดตา
02 :: สำรวจแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำป่าชายเลน
นอกจากทะเลแล้วเกาะยาวใหญ่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลและระบบนิเวศอย่างป่าชายเลนอยู่ด้วย เราจึงเดินทางต่อไปเพื่อสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญของเกาะแห่งนี้ โดยป่าชายเลนมักพบได้บริเวณพื้นที่ชายฝั่งหรือบริเวณปากแม่น้ำซึ่งเกิดจากการที่กระแสน้ำในแม่น้ำลำคลองไหลมาประจบกับกระแสของน้ำทะเลทำให้เกิดเป็นอ่าวที่มีน้ำนิ่ง มีการสะสมตัวของโคลนและตะกอนที่มีแร่ธาตุ จนกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ ซึ่งพืชหลักของป่าชายเลนก็คือต้นโกงกางที่มีคุณสมบัติในการเป็นตัวช่วยบังแสงอาทิตย์ เป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ในป่าชายเลน สำหรับมนุษย์นั้นป่าโกงกางยังเป็นแนวกันพายุที่มั่นคงมากๆ อีกด้วย
อาชีพหลักของชาวบ้านบนเกาะยาวใหญ่ส่วนมากจะทำประมงพื้นบ้าน ทำไร่นา และทำสวนยาง รวมถึงอยู่ในช่วงการทำการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำโดยเน้นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีทั้งการทำไข่เค็มใบเตย สบู่และโลชั่นจากนมแพะ รวมถึงเครื่องจักสานที่ทำด้วยหวาย เป็นต้น
03 :: ตกปลาทรายด้วยเบ็ดไม้ระกำ
หลังจากเป็นผู้สำรวจอยู่หลายจุดก็ถึงเวลาที่เราจะได้ร่วมลงมือทำอะไรกับชาวบ้านเป็นครั้งแรก นั่นก็คือการตกปลาทรายด้วยเบ็ดไม้ระกำ อีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวประมงที่เราว้าวมาก เพราะไม่คิดว่าชีวิตที่เรียบง่ายมันจะง่ายถึงเพียงนี้ เพียงนำเอาไม้ระกำมาทำเป็นเบ็ดตกปลา เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายใช้ง่ายในชุมชนจึงเป็นที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีต วิธีการก็แสนง่ายเพียงถือเบ็ดตกปลาที่พึ่งตัดเอามาจากทางผ่านจากบกสู่ทะเล แล้วเดินลงไปในทะเลให้น้ำอยู่ประมาณเข่า เกี่ยวเหยื่อยแล้วหย่อนเบ็ดเบาๆ รอคอยให้ปลามาติดเบ็ด ก็เสร็จการหาอาหารโดยไม่ต้องลงทุนสักแดงในค่ำนี้แบบสบายๆ
04 :: พายคายัคในป่าโกงกาง (ชุมชนบ้านย่าหมี)
วันถัดมาหลังจากได้รับการแนะนำว่าให้ทานอาหารกันเยอะๆ จะได้มีแรงไว้พายเรือคายัคเราก็ทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะเช้าวันนี้เราจะทำการสำรวจระบบนิเวศของป่าชายเลนด้วยการพายเรือคายัครอดอุโมงค์ป่าโกงกางอย่างใกล้ชิด ในเส้นทางเกือบ 4 กิโลเมตร ที่ต้องใช้เวลาพายถึง 2 ชั่วโมง แม้จะพายกันแบบสุดลูกหูลูกตาชนิดแขนเกือบหลุดไหล่เกือบพังแต่หัวใจของเราก็รู้สึกถึงความปังตลอดเวลา
ตลอดเส้นทางที่เรากำลังเคลื่อนตัวผ่านต้นโกงกางที่กว้างเพียงเรือคายัคหนึ่งลำ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติที่ชาวบ้านปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติโดยไม่มีการปรับแต่งอะไรเลย เราจึงได้อยู่ใต้ร่มเงาที่แสนจะร่มรื่นเย็นสบาย ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ โดยไม่ไปรบกวนสิ่งแวดล้อมยิ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุข เพราะป่าโกงกางมีความสำคัญอย่างมากกับชุมชนอย่างตอนที่เกิดสึนามิขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน หมู่บ้านนี้ก็แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยทั้งๆ ที่อยู่ใกล้เกาะพีพีที่ราบแทบเป็นหน้ากลอง นั่นก็เพราะชุมชนแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากแนวกั้นพายุของป่าโกงกางที่คอยรับคลื่นยักษ์ไว้ พวกเขาจึงเชื่อว่า “เราดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติก็ดูแลเรา”
05 :: พักทานกลางวันที่ชายหาดโละวัก และเก็บขยะริมหาด
หลังจากพลังงานหมดไปกับการพายเรือคายัคเกือบครึ่งวันก็ถึงเวลาอาหารอันโอชะที่ริมหาดโละวัก โดยเมื่อพวกเราเดินทางมาถึงชาวบ้านก็เตรียมอาหารห่อใบตองไว้รอต้อนรับอยู่แล้ว เมื่อเปิดออกมาก็ได้พบกับไข่เจียว น้ำพริกห่อหมก และข้าวสวย เป็นอาหารง่ายๆ ที่แสนวิเศษ เพราะมันอร่อยมากจริงๆ และนอกจากอาหารที่ห่อใบตองมาแล้วชาวบ้านยังจับปลามาก่อไฟแล้วปิ้งให้พวกเรากินกันที่ริมชายหาดกันแบบสดๆ ง่ายๆ จนเราอุทานในใจว่า เฮ้ย!! “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรานี้ช่างอุดมสมบูรณ์” เนี่ยมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่จริงๆ นะ มันยังเหลือที่ๆ เราไม่ต้องเสียเงินสักบาทก็หามาได้อยู่จริงๆ นะเว้ย และมันยังเป็นวิถีชีวิตในยุค 2018 บอกตรงๆ ว่าเราอยากให้แกได้มาลองเห็นด้วยตาตัวเอง มาสัมผัส มาอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตแบบนี้ด้วยตัวแกเองจริงๆ
หลังจากทานอาหารที่ได้จากธรรมชาติในชุมชนกันจนอิ่มแล้วก็ถึงเวลาของกิจกรรมที่จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาขยะชายหาดมากขึ้น เริ่มแรกพวกเราได้ลองมองออกไปที่ทะเลที่สวยงามทุกอย่างดูสะอาดบริสุทธิ์สดใส แต่เมื่อมองกลับเข้าสู่ชายฝั่งเรากับพบขยะจำนวนมาก โดยที่ 90% ของขยะที่เราเห็นนั้นมาจากท้องทะเลที่ดูสะอาดบริสุทธิ์เมื่อสักครู่นั่นแหละ เพราะอีกฝั่งของประเทศไทย เพราะอีกฝั่งของประเทศอื่นๆ ในโลก ยังมีการทิ้งขยะลงทะเล มีการผลิตสิ่งที่จะกลายเป็นขยะที่ไม่อาจย่อยสลายได้อยู่ในทุกๆ วัน และเมื่อกระแสลมกระแสน้ำพัดพามา ขยะเหล่านี้ก็จะกลับมาเผยตัวอีกครั้งบนชายฝั่งอีกหลายแห่ง
พวกเราเลยได้ร่วมลงมือเก็บขยะภายในเวลา 30 นาที แล้วนำมาชั่งดูปริมาณ ซึ่งเราก็ถึงกับเหวอเพราะพวกเราเก็บขยะได้ถึง 160 กิโลกรัม แต่ที่ทำให้เราเหวอยิ่งขึ้นเพราะขยะมากมายที่เราเห็นตรงหน้าเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียวของขยะอีกมากมายมหาศาลบนชายหาด ยังไม่นับรวมถึงขยะที่กำลังจะถูกพัดเข้ามาเพิ่มอีกเรื่อยๆ แล้วเมื่อพวกเราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างกับสถานการณ์ขยะที่เราตรงหน้า แรกๆ เราก็อาจคิดว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เมื่อมาคิดดูดีๆ แล้วขวดน้ำที่เราเห็นตรงหน้า ถุงพลาสติกที่ติดอยู่ริมหาดที่มากมาย หนึ่งในนั้นก็อาจจะเคยเป็นของเรามาก่อน เพราะฉะนั้นมันก็น่าจะเริ่มจากตัวเราได้ง่ายๆ เช่น การงดรับถุงพลาสติก การงดใช้หลอด ช้อน ส้อมพลาสติก และการคัดแยกขยะด้วยการนำไปทิ้งให้ถูกที่ถูกจำพวก ขยะเหล่านี้จะได้ถูกส่งไปรีไซเคิลหรือกำจัดอย่างถูกวิธี มันจะได้ไม่หลุดไปอยู่ในธรรมชาติ หรือแม้แต่เล็ดลอดไปสู่มหาสมุทรอีก
06 :: ปล่อยลูกหอยชักตีนลงทะเล
กิจกรรมดีๆ ส่งท้ายทริปของเราครั้งนี้ก็คือการปล่อยลูกหอยชักตีน กว่า 2,000 ตัวลงสู่ทะเล แม้เจ้าหอยเหล่านี้จะไม่ได้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในระดับมหาศาล แต่มันก็มีบทบาทแสนสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหารของท้องทะเล ซึ่งจะนำไปสู่คุณค่ามหาศาลในท้องทะเลต่อไป จากกิจกรรมนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่านอกจากเราจะเป็นผู้รับจากท้องทะเลในการจับสัตว์น้ำมากินบ้างมาขายบ้างแล้ว เราก็ยังสามารถตอบแทนท้องทะเลได้ด้วยการช่วยกันรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ต่อไป และเสื้อสีขาวที่ด้านหน้าที่สกรีนสีแดงเป็นคำว่า “มาหาสมุทร” และด้านหลังสกรีนคำว่า “KOH YAO YAI” ที่เราใส่กันในวันนี้คือเสื้อที่ทำมาจากขยะขวดพลาสติก PET ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล จนกลายเป็นใยผ้า recycled polyester ที่หากมองในแง่ของต้นทุนการทำเสื้อก็ต้องนับว่าสูงอยู่พอสมควรแต่หากมองว่านี่คือต้นทุนในการกำจัดขยะเพื่อรักษาระบบนิเวศก็ถือว่าคุ้มค่ามาก
และอีกหนึ่งมื้อพิเศษจากเซฟอุ้ม คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ ที่ได้นำเอาวัตถุดิบสดใหม่จากท้องทะเลมาเสิร์ฟในสไตล์ chef‘s table ก่อนปิดท้ายด้วยเมนูของหวานสุดอร่อยที่มีส่วนผสมของโค้กอยู่ในจานด้วย ไปพร้อมกับพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ ลาลับขอบทะเล และแสงไฟใต้แสงเทียนทำให้เราต้องกลับมานึกถึงวิถีคนเมืองของตัวเองว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ เราเลือกความเคยชิน ความสะดวกสบาย ใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แถมยังทิ้งไม่ถูกที่ถูกทาง โดยไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบจากความสบายนั้น ในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ ณ เกาะห่างไกล รายล้อมด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ ยังต้องพบกับปัญหาขยะพลาสติกเกลื่อนชายหาด ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนก่อปัญหาเลย
หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของระบบนิเวศแล้ว เราก็ขอสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะกับตัวเองว่าเราจะขอเอาตัวเองออกจากห่วงโซ่ที่ทำให้ขยะเหล่านี้กลับมาทำลายธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามที่เรารักเหลือเกินนี้ ด้วยการลดการใช้พลาสติก และแยกทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เพียงเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ มันคงจะเป็นก้าวสำคัญให้กับโลกเราได้ ธรรมชาติที่สวยงามเหล่านี้จะได้คงอยู่แบบสวยๆ ไปอีกห้าปี สิบปี ร้อยปี และส่งต่อความสวยงามเหล่านี้ไปยังเจเนอร์เรชั่นอื่นๆ ต่อไป