สายเที่ยวอย่างเราขึ้นเหนือล่องใต้ผ่านมาแล้วก็หลายจังหวัด แต่ภูมิภาคที่เรามีโอกาสได้ไปน้อยมากที่สุดก็คือภาคอีสาน จนเกือบลืมไปเลยว่านี่คือแดนดินถิ่นวัฒนธรรมที่แสนสำคัญและอลังการ โอกาสดีๆ ของเราในครั้งนี้เลยขอเลือกไปจกปลาร้าที่กลางนา เดินตามหาปากหม้อญวนที่เค้าว่าเด็ด กินเสร็จก็ไปร่วมรำวง ทอฝ้าย สาวไหม จิบกาแฟ แลให้ทั่วทั้งสามพันโบก และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่อำนาจเจริญและอุบลราชธานี 2 จังหวัดที่จะทำให้หัวใจอิ่มเอมจากความสนุก และถ้าอยากรู้ว่าอีสานจะเฟียสขนาดไหนก็รีบตามเรามาเลย …
ทริปนี้เราจะเริ่มต้นกันตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเดินทางจากกรุงเทพบินตรงสู่สนามบินอุบลราชธานีกันตั้งแต่ 8 โมง เพื่อให้ทันทานมื้อเช้ากันที่ ปากหม้อโรบอท ร้านปากหม้อที่ขึ้นชื่อแห่งเมืองอุบลราชธานี มีปากหม้อให้เลือกถึงสามแบบ ทั้งปากหม้อนิ่ม ปากหม้อกรอบ และปากหม้อแบบใส่ไข่ ความไฉไลคือไส้หมูสับ ต้นหอม และหมูยอ ที่ผัดแบบแห้งๆ คลุกเคล้ากันจนลงตัว แล้วเอาไปหอด้วยแป้งปากหม้อสีขาวที่ทั้งบางและนุ่มนิ่ม ได้ปุ๊บราดน้ำจิ้มแล้วตักใส่ปากปั๊บรับรองอร่อยฟินจนต้องกินมากกว่าหนึ่งจาน แต่ถึงแม้ว่าจะต้องรอนานแต่ก็อร่อยคุ้มอย่างแน่นอน
อิ่มท้องกันแบบฟินๆ ก็ได้เวลากลิ้งไปเที่ยวต่อกันที่ ชุมชนนาหมอม้า อำเภอเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีทั้งเหล่าคุณลุง คุณป้า คุณตา และคุณยายในชุดประจำตำบลออกมาต้อนรับพวกเราด้วยการรำวงฝูงปลา ศิลปะการแสดงประจำชุมชนนาหมอม้า ที่เป็นการเล่าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชนอย่างสนุกสนานจนเราอดไม่ได้ที่จะต้องออกไปร่วมแจมโชว์สเต็ปกันนิดหน่อย …
แจมไปแจมมาจนคุณป้ายังต้องขอร้องให้หยุดไม่ใช่เพราะกลัวเราจะหมดแรงแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะในชุมชนแห่งนี้ยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการทำผลิตภัณฑ์จากต้นกกของดีของเด่นประจำชุมชนให้เราได้ร่วมเรียนรู้และทดลองทำกันอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลือกต้นกก การตัดแต่งต้นกกก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการนำต้นกกมาทอเป็นเสื่อลวดลายต่างๆ ที่ให้ทั้งความสวยงามและทนทาน
ทอเสื่อจนงงไปหมด ไอ้ที่เราคิดว่าง่ายก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด โชคดีที่ได้คุณลุงมาชักชวนไปนั่งรถมอเตอร์ไซค์เยี่ยมชมหมู่บ้านผ่านถนนสายวัฒนธรรมและทุ่งนาข้าวสีเขียวขจี เพื่อไปยังจุดหมายของเราที่วัดดงเฒ่าเก่าเสมาราม แหล่งโบราณคดีที่สำคัญภายในชุมชน โดยได้มีการมีการค้นพบใบเสมาธรรมจักรพระพุทธรูปหินทรายและต้นยางเก่าแก่ 10 คนโอบอายุกว่า 500 ปี ที่งานนี้บอกได้คำเดียวว่า Amazing Thailand แดนอีสาน
แซ่บแซ่บแซ่บแซ่บแซ่บ มันเผ็ดมันแสบ แซ่บเข้าถึงทรวง ตำไทยตำลาวหายห่วง ตำไทยตำลาวหายห่วง ร้องเพลงมาขนาดนี้ไม่บอกก้อรู้ว่าได้เวลาอาหารอันโอชาแห่งบ้านนาภูคำโฮมสเตย์ ร้านอาหารและที่พักแบบบ้านๆ ที่มีไฮไลท์อยู่ที่ทุ่งนาเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา เหมาะแก่การนั่งหย่อนขาจกปลาร้า ลาบ ส้มตำไก่บ้าน และอาหารท้องถิ่นอื่นๆ กันในช่วงกลางวันเป็นที่สุด
อิ่มจนไม่อยากจะลุกแต่เราก็ต้องออกเดินทางกันต่อ โดยสถานีต่อไปของเราคือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านหัวดง ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ โดยผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นโด่งดังของที่นี่ก็คือ “ผ้าไหม” เราจึงสามารถมาเรียนรู้การทำผ้าไหมแบบครบวงจรตั้งแต่การเพาะไหม เลี้ยงไหม สาวไหม ไปจนถึงการทอผ้าไหมด้วยตนเอง ซึ่งเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผ้าไหมของที่นี่แตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือสีที่ใช้ย้อมผ้าจะเป็นสีที่มาจากธรรมชาติทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นถ้าใครอยากจะมาศึกษาหาความรู้เหมือนกับเราที่นี่ ขอแนะนำให้โทรนัดคุณลุงคุณป้ากันก่อนเพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก และแถมกันอีกสักนิดถ้าหากใครมาถูกช่วง ถูกเวลาคุณลุงคุณป้าก็จะพาเดินเก็บลูกม่อนหรือมัลเบอร์รี่มากินกันแบบสดๆ ได้ด้วยนะจ๊ะ
Step by step and learning by doing คือหัวใจหลักของการสอนทอผ้าไหมของที่นี่ ที่จะมีตัวอย่างและเครื่องมือมาให้เราได้ทดลองใช้และทดลองทำกันแบบจริงๆ จังๆ รวมถึงได้ทดลองใส่ผ้าไหมของที่นี่ดูด้วยว่าผ้าไหมของเค้านั้นสวมง่ายใส่สบายสีสดแบบไม่มีเคมีจริงๆ ก็เลยต้องขอใส่กระโปรงห่มสไบเดินเล่นถ่ายรูปใสๆ ให้รอบหมู่บ้านกันสักหน่อยนึง
นอกจากชุมชนแห่งนี้จะโดดเด่นในเรื่องของภูมิปัญญาการทำผ้าไหมแล้ว ภายในชุมชนยังมีใบเสมา 1,000 ปี
และสวนตะแบกโบราณ หรือต้นเปือย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี แถมยังเป็นสัญลักษณ์ประจำตำบลและที่มาของชื่อตำบลอีกด้วย
และนี่ก็เป็นการเที่ยวชุมชนวันแรกของเราที่จังหวัดอำนาจเจริญ พอใกล้เย็นพวกเราก็ตีรถกลับเข้ามานอนใจกลางเมืองอุบลราชธานี ณ ที่พักสีขาวสะอาดตาเน้นความคลีนและความธรรมชาติแบบชายทะเลกันที่ De lit ที่พักสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นโทนสีฟ้าขาวทั้งภายในและภายนอกอาคาร ทำให้มีคาแรกเตอร์โดดเด่นแตกต่างจากที่พักทั่วๆ ไปในอุบลจนเราต้องขอวนมาพักผ่อนสักหน่อย
ก่อนทานอาหารเย็นแล้วเข้านอนเราก็มาขอพักผ่อนชิวๆ กันที่ริมสระว่ายน้ำสีขาวฟ้าสดใสให้ลมพัดตีหน้าเบาๆ แล้วคิดถึงหนึ่งวันที่ผ่านมากับการเที่ยวชุมชนแบบจริงจังของเราในครั้งนี้ ทำให้เรารู้สึกได้ว่าปีนี้เป็นปีของการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดและลึกซึ้งขึ้นมากกว่าทุกปีจริงๆ เราได้เห็นหลายๆ ชุมชนเปิดพื้นที่เปิดบ้านของพวกเค้าให้เหล่านักเดินทางได้เข้ามาเรียนรู้และชื่นชม เพื่อรับเอาสิ่งดีๆ กลับไป เพราะฉะนั้นการเดินทางไปของเรานอกจากเก็บเกี่ยวความประทับใจกลับมาแล้ว เราก็อยากให้ทุกคนลองเปิดใจเที่ยวแบบชุมชนดูสักครั้ง แล้วจะรู้ว่าเสน่ห์ของวิถีชีวิตนั้นสวยงามน่าชื่นชมไม่ต่างจากภูเขาและท้องฟ้าที่เราแลเห็นเช่นกัน
เริ่มเช้าวันใหม่กันแบบชิวๆ ในช่วงสายๆ ที่ อุบลโอชา ร้านอาหารเช้าสไตล์เวียดนามที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของเมืองอุบล จำพวกไข่กระทะ ก๋วยจับญวน ขนมปังเวียดนาม และข้าวต้มไรซ์เบอร์รี่ ส่วนอาหารที่เราลองทานและแนะนำก็คือไข่กะทะ จั๊บญวน ขนมปังเวียดนามและข้าวต้มไรซ์เบอร์รี่ พูดง่ายๆ ก็คือทุกอย่างที่เรากินไปนั่นแหละ เพราะมันอร่อยมากจริงๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๋วยจับญวนชามโตที่เสิร์ฟร้อนๆ เครื่องแน่นๆ เต็มชาม บีบมะนาวสักนิด เพิ่มพริกอีกสักหน่อย รับรองว่าเช้านี้เลิกงามยามดีแบบเห็นๆ ที่สำคัญเครื่องแน่นล้นชามขนาดนี้แต่ราคาแค่ 40 บาทเท่านั้น คุ๊มแบบนี้สั่งมาสิเลยค่าคู๊นนนนนนนน
สารอาหารครบถ้วนแต่คาเฟอีนขาดแคลน ก็เป็นอันรู้กันว่าได้เวลาของการไปนั่งในคาเฟ่ชิคๆ ที่พวกเราเสิร์ชเจอ ตั้งแต่เมื่อคืนนั่นก็คือ ร้านหมั่นเหลา ร้านกาแฟโอเพ่นแอร์สไตล์ปีนัง ที่ดูน่านั่งตั้งแต่แรกเห็น ตัวร้านเป็นจีน+ความโมเดิร์นอยู่หน่อยๆ แม้หน้าร้านจะเน้นที่สีเขียวเหลืองแต่ด้านในจะเน้นสีเรียบๆ ของไม้และปูน เพิ่มความเก๋าอีกสักหน่อยด้วยเปียโนตัวเก่าที่ตั้งอยู่กลางร้านเหมาะแก่การนั่งอ่านหนังสือ จิบกาแฟดำ และขนมเค้กหวานๆ ซักชิ้นหนึ่ง
เมื่อมั่นใจว่าแรงดีไม่มีตกเราก็ถึงเวลาขับรถจากตัวเมืองมุ่งสู่อำเภอโขงเจียม อำเภอที่ได้รับแสงแรกแห่งสยามประเทศตามที่เป็นที่พักของเราในคืนนี้ Once upon a time homestay โฮมสเตย์สุดคิ้วที่มีชื่อภาษาไทยแสนโรแมนติกว่ากาลครั้งหนึ่งโฮมสเตย์ ที่เป็นทั้งโฮสเทล คาเฟ่ และโรงทอฝ้าย บ้านไม้สไตล์วินเทจสองชั้นแห่งนี้ถูกตกแต่งให้โปร่งโล่งสบาย มีพื้นที่ใช้สอยแยกส่วนกันออกไป แต่ก็ยังคงความเป็นธรรมชาติทั้งจากของประดับที่ทำจากผ้าฝ้ายและต้นไม้ต่างๆ นาๆ
ไฮไลท์ของการมาพักผ่อนที่นี่ของเรานอกจากอยากจะนอนใกล้ชิดธรรมชาติแล้วเรายังอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายและการย้อมสีธรรมชาติของที่นี่กันอีกด้วย และเพราะเรามีเวลาเรียนกันเพียงเล็กน้อยเราจึงขอเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยครูช่างหัตถศิลป์ของศูนย์ส่งเสริมศิลปะชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ที่แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์น่าชมน่าช้อปจนต้องสอยติดมือมาคนละชิ้นสองชิ้น
Shopping พอกรุบกริบ พระอาทิตย์ก็กำลังจะอัสดงเราเลยขอตรงไปยัง วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือวัดเรืองแสง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากป่าหิมพานต์หรือเขาไกลลาศ ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาจึงสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของลำน้ำโขงและวิวทิวทัศน์ของประเทศลาว รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณเชิงเขาได้ด้วย ยิ่งถ้ามาในช่วงเย็นในขณะที่แสงสีส้มอุ่นๆ ของดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ยิ่งทำให้ภาพของอุโบสถแห่งนี้ดูสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก
แต่ไฮไลท์เด็ดที่พลาดไม่ได้เลย คือการอยู่ถึงหลังเวลาพระอาทิตย์ตกดินเพื่อชมอุโบสถที่มีต้นแบบมาจากวัดเชียงทองประเทศลาวแต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยเสาร์แต่ละต้นจะลงลวดลายเป็นลายดอกบัวและสัตว์ต่างๆ ตามตำนานเรื่องบัวสี่เหล่า และภายนอกของอุโบสถบริเวณด้านหลังจะมีภาพต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิตในเรื่องอวตาร โดยได้มีการใช้สารเรืองแสงทาไว้ที่ต้นไม้ และลานรอบๆ อุโบสถ เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสได้มาแล้วก็ไม่ควรพลาดที่จะมาเฝ้ารอถ่ายรูปความสวยงามนี้เก็บไว้เป็นการปิดท้ายวันแบบสงบและสวยงามสมกับเป็นเมืองแห่งดอกบัวจริงๆ
และแล้ววันสุดท้ายของทริปก็มาถึง เราตื่นค่อนข้างสาย บิดขี้เกียจซ้ายขวา ล้างหน้าแปรงฟัน แล้วรีบลงมากินอาหารเช้าที่ถูกจัดไว้แบบน่ารักๆ เป็นไข่กะทะกับไส้กรอก ตบท้ายด้วยกาแฟหอมกรุ่น ก่อนขึ้นไปอาบน้ำอาบท่า แต่งตัวสวยๆ ช่วยชุมชน เพื่อเช็คเอาท์แล้วออกเดินทางไปยังจุดหมายแรกของเรา
นอกจากสถาปัตยกรรมที่สวยงามแล้วอุบลราชธานีก็ยังโด่งดังในเรื่องของความทางธรรมชาติ ณ ริมน้ำโขงที่มีชื่อว่า “สามพันโบก” ที่แปลได้ว่า 3000 แอ่ง หรือ 3000 หลุมนั่นเอง แต่จะมีมากหรือน้อยกว่า 3000 หลุมหรือไม่นั้นเราก็ตอบไม่ได้ ตอบได้เพียงแต่ว่ามันสวยงามอลังการธรรมชาติสร้างของจริง แบบตอนแรกเราก็รู้สึกว่าคนจะตื่นเต้นอะไรกันนักหนากับแค่หลุมแค่บ่อบนพื้นหิน แต่เมื่อมาจริงๆ ตลอดสุดลูกหูลูกตาของเราคือพื้นหินสีครีมที่เรียงสูงต่ำสลับกันไปและยังมีหลุมรูปร่างต่างๆ ชวนให้จินตนาการอีกหลายหลุม กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนที่มาที่นี่ที่จะต้องมาค้นหาและช่วยกันจินตนาการว่าหินแต่ละก้อนนั้นเหมือนกับอะไร แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราขอแนะนำให้พวกแกพกร่ม น้ำ หมวก เสื้อแขนยาวก่อนจะเริ่มเดินกันด้วย เพราะบริเวณนี้ถือเป็นที่กลางแจ้งที่แจ้งจนตาแทบพร่าเลยจ้าาาา
โดยโบกที่มีชื่อเสียงจนใครๆ ก็ต้องตามหา ไม่งั้นจะดูเหมือนว่ามาไม่ถึงสามพันโบกของจริง นั่นก็คือโบกรูปมิกกี้เม้าท์ โบกรูปหัวใจ และโบกรูปดาว แต่เอาเข้าจริงๆ จะเจอหรือไม่เจอการได้มาเดินถ่ายรูปเล่นที่นี่ก็สามารถได้แฟชั่นเซตที่ใช้ลงรูปในโซเชียลได้หลายเดือนเลยล่ะ
ถ่ายรูปกันจนเสื้อผ้าหน้าผาเริ่มเปียกเหงื่อไปกว่าสองชั่วโมงก็ถึงเวลาอาหารกลางวันพอดี หิวๆ อย่างนี้เราเลยไปฝากท้องกันที่ชุมชนสุดท้ายของทริป ณ หมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถี ชุมชนบ้านบก อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเค้าก็ต้อนรับเราอย่างเต็มที่ด้วยส้มตำปูปลาร้าพริกแปดเม็ด ปลาดุกย่างหอมกรุ่น แคปหมูกรุบกรับ และข้าวเหนียวร้อนๆ ให้เราพร้อมจกแล้วจิ้ม จกแล้วจิ้ม จนพุงกาง
อิ่มฟินแบบร้อนแรงก็ได้เวลาไปชิวกับกิจกรรมดีๆ ภายในหมู่บ้านนั่นก็คือ ล่องแพ เอาเท้าแช่น้ำ เอาหัวจุ่มลำธาร หรือจะสั่งกาแฟลงไปนั่งจิบแบบชิวๆ ก็ได้ โดยหนึ่งแพสามารถนั่งได้มากถึง 10 คน จะมาเป็นคู่นั่งชิวๆ หรือมาเป็นกลุ่มหนีความร้อนลุ่มด้วยการกระโดดน้ำว่ายตามแพ ปล่อยตัว ปล่อยใจให้ไหลไปแบบเฉี่อยๆ ก็ชุ่มฉ่ำหนำใจ
พอยกพลขึ้นบกพวกเราก็มานั่งพักดู หนังประโมทัย หรือที่ชาวภาคอีสานจะเรียกว่าหนังบักตื้อ หรือภาคใต้จะเรียกว่าหนังตะลุง กับเรื่องราวของไอ้เท่ง สาวสวย และพระฤาษี ที่โยกย้ายส่ายสะโพกไปตามจังหวะกลองตะลุ่มตุ่มมง ทั้งตลก น่ารัก และมีเสน่ห์ เอาจริงๆ ไม่คิดว่าภาคอีสานจะมีการแสดงแบบนี้ … นี่แหละนะที่เค้าบอกว่ายิ่งออกเดินทางยิ่งเจอเรื่องราวไม่คาดคิดเสมอ
พอหายเหนื่อยเราก็มาเดินดูผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนนี้ ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์จากฝ้าย ที่นี่มีศูนย์การเรียนรู้ให้เราได้ลองเก็บฝ้าย แยกฝ้าย ย้อมฝ้ายไปจนถึงการทอฝ้ายเรียกง่ายๆ ว่าสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนขั้นตอนสุดท้ายแบบได้สัมผัสของจริงกันเลยทีเดียว
แต่ขั้นตอนที่เรารู้สึกว่าอะเมซซิ่งมากที่สุดก็คือขั้นตอนของการย้อมสีก่อนที่จะนำไปทอ ซึ่งสีสดๆ ที่เราเห็นนี้ล้วนมาจากส่วนผสมธรรมชาติทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นรากไม้ ผลไม้ ดอกไม้ โดยส่วนมากจะต้องนำส่วนผสมมาต้มรวมกันในหม้อ โดยใช้เตาฟืนตั้งไฟเคี่ยวไปเรื่อยๆ หลายวันหลายคืนจนออกเป็นสีที่เข้มในระดับที่พอใจ แล้วจึงนำมาใช้ในการย้อม ให้ได้สีสันตามต้องการ และนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ผ้าคงสีที่สดใสในระยะเวลานานเหมือนกับสีจากโรงงานอุตสาหกรรม
ย้อมไปย้อมมา ทอไปทอมา ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่เหมาะกับการเป็นผู้ผลิตจริงๆ แต่เหมาะกับการเป็นผู้บริโภคซะมากกว่า เราเลยเดินไปเลือกหาชุดพื้นบ้าน เอามาใส่เดินเล่นในระหว่างเที่ยวชุมชน จนได้รูปมาสวยสดใสสมใจสาวโซเชียลอย่างที่เห็น
เผลอแปบเดียว 72 ชั่วโมง ก็ผ่านไปไวเหมือนโกหก และให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเวลาสั้นๆ แต่มันก็นานพอที่จะทำให้เราตกหลุมรักพื้นแผ่นดินที่ใครๆ ก็มักเห็นแต่ความแห้งแล้ง พอได้มาสัมผัสเรากลับรู้สึกว่าพื้นแผ่นดินของที่นี่ชุ่มชื่นไปด้วยน้ำใจ และเปี่ยมล้นไปด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านที่น่าเรียนรู้และรักษาไว้ จนเราต้องขอบอกแกหน่อยว่า จงพาตัวเองมาสัมผัส จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานีด้วยตัวแกเองให้ได้ แล้วแกจะรู้ว่าเมืองไทยมีดีอีกหลายซอก หลายมุม หลายชุมชนจนแกคาดไม่ถึงเลยล่ะ อ่าวๆ อย่ามัวแต่ช้าอากาศหนาวๆ ช่วงเวลาดีๆ แบบนี้หาเวลาพาตัวเองไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เที่ยวที่ใหม่ๆ เพื่อชาร์ตแบตให้กับตัวเองต้อนรับปลายปีกันซักหน่อยดีกว่า