เสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ เมืองสีเขียวที่เหลียวไปทางไหนก็เจอแต่ธรรมชาติรอบตัว ทั้งภูเขาสูง ดอยสวย เหล่าต้นไม้ดอกไม้ก็ง๊ามงาม เหมาะมากที่จะพาร่างมาสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด เพื่อรีเฟรชทั้งกายและใจให้เต็มไปด้วยความสดชื่น มาเชียงใหม่คราวนี้ก็ไม่เชิงมาเที่ยวหรอกนะ เรามาทำงานอาสากับกิจกรรม “TCP Spirit #2 หมอต้นไม้ เชียงใหม่” เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับสิ่งรอบตัวด้วย ได้ทั้งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุกว่า 200 ปี รู้จักการทำงานของรุกขกร รวมถึงได้รู้ว่าเวลาต้นไม้ป่วยก็ต้องมีหมอมาตรวจและรักษาไม่ต่างจากเรา
ดังนั้นทริปนี้จึงเป็นอีกทริปที่ทำให้เราเข้าใจและรักธรรมชาติสีเขียวรอบตัวเพิ่มขึ้นทวีคูณเลยละแก …
ชานชาลาสามเวลาหกโมงตรง เราจะได้ยินเสียงประกาศให้เตรียมตัวขึ้นรถไฟเพื่อออกเดินทางจาก กรุงเทพ-เชียงใหม่ ใช่แล้ว!!! รอบนี้เราเดินทางด้วยรถไฟการเดินทางสุดคลาสสิคที่หลายคนมักมองข้าม อาจเพราะคิดว่ามันไม่สะดวกสบาย บอกเลยว่าถ้าได้มาลองสักครั้งจะติดใจ เพราะรถไฟไทยเดี๋ยวนี้สะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนมาก มีทั้งห้องส่วนตัว ห้องน้ำ อ่างล้างหน้า หิวเมื่อไหร่ก็สามารถสั่งอาหารมาทานถึงที่ได้ หรือใครสายเฮฮามาเป็นแก๊งค์ก็มีห้องรวมที่เป็นเตียงสองชั้นให้เลือกเหมือนกัน อย่างที่บอกไปทริปนี้เราออกเดินทางกับ TCP เพราะงั้นเลยมีเพื่อนร่วมทางมากมาย เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของการนั่งรถไฟที่ทั้งสบายและได้มิตรภาพไปพร้อมกัน
13 ชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนโกหก เราใช้เวลานั่งๆ นอนๆ บนรถไฟแบบไม่รู้สึกเบื่อเลยสักนิด แถมรู้สึกได้นอนเต็มอิ่มตลอดทั้งคืน ทำให้เช้าวันนี้เป็นอีกวันที่รู้สึกกระปรี้กระเปร่าหันไปทางไหนก็เจอแต่รอยยิ้มสดใสของเพื่อนร่วมทาง แน่นอนว่าท้องว่างมาทั้งคืนเราเลยสั่งอาหารเช้าแบบจัดเต็มมาทานสักหน่อย สำหรับอาหารเช้าบนรถไฟสามารถเลือกสั่งได้เป็นชุด มีทั้งชุดข้าวต้ม อาหารไทย คลับแซนวิช ที่เสิร์ฟพร้อมน้ำส้มและผลไม้ ระหว่างทานมื้อเช้าแสงอาทิตย์ก็ค่อยๆ ส่องเข้ามาทางหน้าต่าง ทำให้เราเริ่มมองเห็นภูเขา ทุ่งนา และวิวทิวทัศน์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สักพักรถไฟก็พาเรามาถึงเชียงใหม่อย่างปลอดภัย
หลังจากล้างหน้าล้างตาก้าวขาลงรถไฟ พวกเราเหล่าอาสาสมัคร TCP ก็เริ่มไปทำความรู้จักกับคุณปู่ คุณย่าต้นไม้ใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นเหมือนญาติผู้ใหญ่อีกคนของพวกเรา โดยเริ่มจาก ‘ต้นจามจุรี อายุ 150 ปี’ ที่สโมสรยิมคานา ที่นี่เป็นสนามกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สร้างโดยกลุ่มข้าราชการอังกฤษที่มาทำสัมปทานป่าไม้ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากคำบอกเล่ารุ่นสู่รุ่น ทำให้เรารู้ว่าต้นจามจุรี หรือต้นก้ามปู หรือต้นฉำฉาต้นนี้อยู่มาก่อนสโมสรยิมนาคาซะอีก แต่ด้วยความรักและความเอาใจใส่ของคนที่สโมสร ทำให้คุณปู่จามจุรีได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและถูกวิธีจากหมอต้นไม้ เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของคุณปู่จามจุรีแล้วก็เข้าใจได้ในทันทีเลยว่าทำไมที่นี่ถึงเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ที่ใครๆ ก็อยากแวะเวียนมาชมความยิ่งใหญ่ด้วยตัวเอง
หลังจากตะลึงตึงๆ กับความยิ่งใหญ่ของต้นจามจุรีไปแล้ว พวกเราก็นั่งรถรางชมเมืองเลียบแม่น้ำปิงไปที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กันต่อ เพื่อไปฟังประวัติของ ‘ต้นตะเคียนทอง’ อายุกว่า 100 ปี ที่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นต้นไม้ที่ถูกกระแสน้ำปิงพัดมาเกยฝั่งริมน้ำตั้งแต่ตอนเป็นต้นอ่อน และอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยอธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของไทย จากนั้นก็เจริญเติบโตเป็นต้นไม้สูงใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาจนถึงปัจจุบัน บรรยากาศที่นี่ร่มรื่นมาก มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวสบายตา ยิ่งได้เงยหน้ามองต้นไม้ใหญ่แล้วก็ยิ่งรู้สึกอบอุ่นสบายใจเหมือนมีคนคอยบังแดดบังลมให้เราอยู่ตลอดเวลา
ไม่ไกลกันจากต้นตะเคียนทอง เราก็ได้มารู้จักกับต้นจามจุรีอีกต้นที่สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ศูนย์เชียงใหม่ ที่นี่เป็นสถาบันของฝรั่งเศสที่ศึกษาด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีห้องสมุดที่เต็มไปด้วยตำราภาษาฝรั่งเศสให้คนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ ภายในมีอาคารไม้สไตล์ล้านนาแบบดั่งเดิมอยู่หลายหลัง และมีต้นจามจุรียักษ์ต้นนี้แอบซ่อนอยู่ท้ายสวน แต่ถึงจะซ่อนยังไงก็คงไม่มิดเพราะแค่เราก้าวเข้ามาที่นี่ก็สามารถมองเห็นความยิ่งใหญ่ของต้นจามจุรีนี้ได้หลายทิศทาง
เรากลับขึ้นรถรางอีกครั้งเพื่อนั่งชมถนนท่าแพร ถนนสายพิเศษของเมืองเชียงใหม่ที่ว่ากันว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในเมือง เพราะไม่มีสายไฟมาบดบังวิวใดๆ ทำให้เรามองเห็นตึกรามบ้านช่องเก่าๆ รวมถึงโรงแรมแทมมาริน วิลเลจ จุดหมายที่สี่ที่เราจะมาชมต้นไม้ใหญ่ต้นต่อไปได้อย่างชัดเจน โรงแรมนี้เป็นโรงแรมขนาดเล็กบนพื้นที่ที่สงบร่มรื่น โอบล้อมด้วยคูเมืองและกำแพงเมืองโบราณ มี ต้นมะขามยักษ์ ที่คอยให้ร่มเงามาเป็นระยะเวลานานกว่า 200 ปี ตามความเชื่อของชาวล้านนาเค้าจะเก็บต้นไม้ใหญ่เอาไว้ให้เป็นเหมือน ‘ใจบ้าน’ ที่จะดูแลปกป้องรักษาชุมชน เมือง หรือสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข บอกเลยว่าใครมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วกำลังมองหาที่พักใจกลางเมืองแต่ให้ความสงบและพักผ่อนได้เต็มที่ โรงแรมแทมมาริน วิลเลจนี่แหละคือตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียวนะแก
ต้นไม้ใหญ่ต้นสุดท้ายที่เราจะไปทำความรู้กันอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็น ต้นยางนา ที่ปลูกไว้ให้เป็นไม้หมายเมือง ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 ต้นยางนาต้นนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างหออินทขีลและศาลพญายักขราช ว่ากันว่ามีอายุยาวนาวมาถึง 220 ปีเลยทีเดียว นอกจากต้นยางนาต้นนี้ ภายในวัดเจดีย์หลวงยังมีต้นยางนาอีกสามต้นที่เก่าแก่ไม่แพ้กัน และต้นยางนาก็ไม่ได้ถูกใช้ให้เป็นไม้หมายเมืองเท่านั้น ยังเป็นไม้หมายถิ่นของตำบลยางเนิ้ง–สารภี ซึ่งเป็นถนนที่ปลูกต้นยางนาเต็มสองข้างทางกว่า 10 สิบกิโลเมตร
สำหรับต้นยางนานั้นเป็นพืชถิ่นที่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งในที่ราบ พื้นที่เชิงเขา และไหล่เขาไปจนถึงตามเกาะต่างๆ ก็สามารถอยู่ได้ เรียกได้ว่าปรับตัวเก่งในทุกสถานการณ์จริงๆ และเป็นต้นไม้ที่สูงมากกกก มีความสูงได้ถึง 40 เมตร ถ้าเทียบก็เท่ากับตึก 13 ชั้นเลยทีเดียว
ช่วงบ่ายของวันพวกเราเดินทางไปวัดสารภีกันต่อเพื่อเรียนรู้การดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี และได้ลองตรวจสังเกตอาการต้นไม้ปกติและต้นไม้ป่วยด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก่อนตรวจสุขภาพต้นไม้ก็จะมี ต้องรู้ว่าเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นในป่าแบบไหน สภาพแวดล้อมที่ต้นไม้อยู่เป็นยังไง รวมถึงเป็นต้นไม้ที่ปลูกมาตั้งแต่เล็ก หรือเป็นต้นไม้ที่ย้ายมาปลูก พอเราได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็มาดูที่ตัวต้นไม้กันต่อ ถ้าต้นไม้ปกติแข็งแรงดีก็จะแตกใบกิ่งก้านมากมาย ลำต้นสมบูรณ์ เปลือกไม่แตก เนื้อไม้สด แต่ถ้าเป็นต้นไม้ป่วย ใบก็จะเฉา เหี่ยว ยอดแห้ง ใบสีจางหรือเล็กกว่าปกติ กิ่งผุ มียางไหลหรือมีเห็ดขึ้น
หลังจากนั้นเราก็ได้ลองวัดความสูงและความกว้างของเรือนไม้เพื่อคาดคะเนความยาวของราก โดยใช้ทฤษฎีที่เราเคยเรียนมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ นั่นเองแก เป็นอีกกิจกรรมที่เรารู้สึกสนุกมาก ทุกคนมีส่วนร่วมและช่วยกันอย่างเต็มที่ ได้เห็นความคิดที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน แต่ทุกคนก็มีใจที่พร้อมจะดูแลต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ไปพร้อมกัน
ขนาดคนเรายังต้องมีกินอาหารเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ต้นไม้ก็ต้องการวิตามินเพิ่มเติมไม่แพ้กันนะแก เราเลยทำปุ๋ยอินทรีย์จากจุลทรีย์ที่ยังมีชีวิตเพื่อนำไปเติมปุ๋ยให้กับต้นยางนาที่กำลังป่วยริมถนนสารภี จากนั้นก็ช่วยกันนำต้นกล้าของต้นยางนามาปลูกเพิ่ม เพื่อให้ถนนสายนี้เป็นถนนประวัติศาสตร์ที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นยางนาที่เป็นไม้หมายถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ งานนี้อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงผู้มีใจรักการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็มาร่วมทำกิจกรรมในฐานะ TCP Spirit Ambassador กับพวกเราด้วย ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจจากใจของอเล็กซ์ที่ให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จริงๆ บอกเลยว่าเรารู้สึกปลื้มใจมาก
นอนเต็มอิ่มหลับเต็มตื่นไม่ใช่เพราะชุดเครื่องนอนโตโต้แต่อย่างใด น่าจะเป็นเพราะเมื่อวานได้ออกแรงร่วมกับอาสาทุกคนช่วยกันปลูกต้นยางนาอย่างตั้งใจ เช้านี้เราตื่นมาสูดอากาศรับลมหนาวแรกที่อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ด้านหลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้อยู่ในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน จึงทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำนี้ใช้สำหรับทั้งอุปโภค บริโภค และทางการเกษตรได้อีกด้วย ภายในอ่างเก็บน้ำก็มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะมาตกปลาก็ได้ เดินชมธรรมชาติรอบๆ อ่างก็ดี หรือที่เราเห็นนักศึกษาแม่โจ้ส่วนใหญ่มักจะเอาจักรยานขึ้นมาปั่นรับลมกัน ที่นี่เป็นอีกที่ๆ เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีอ่างเก็บน้ำสวยและบรรยากาศดีขนาดนี้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าขับรถผ่านมาทางอำเภอสันทรายเมื่อไหร่ต้องแวะมานั่งชมวิวให้ได้นะบอกเลย
พักทานมื้อเที่ยงอิ่มหนำสำราญทั้งคาวหวานไปแล้ว เราก็มีแรงกลับมาต่อกันกับกิจกรรมปั่นจักรยาน เพื่อเรียนรู้การตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี ถ้าเราลองสังเกตต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพดูเวลาเค้าตัดกิ่งเค้าก็ตัดยอดจนกุดเพื่อหลบสายไฟ แต่ที่จริงแล้วการตัดแบบนี้จะทำต้นไม้ไม่คุ้นเคยกับแดดและได้รับความร้อนมากเกินไป เพราะไม่มีใบช่วยกักเก็บน้ำจนสุดท้ายก็ตายในที่สุด หรือบางต้นที่แก่มากแล้วพอถูกตัดแบบนี้ก็ไม่มีแรงที่แตกกิ่งใหม่ออกมา ต้องต่อสู้กับเชื้อโรคที่เกิดจากแผลตอนตัดอีก เจ้าหน้าที่เลยอธิบายวิธีการบั่นทอนยอดที่ถูกต้องให้เราฟัง ว่าควรตัดกิ่งล่างแบบเจาะกลางพุ่ม เพื่อที่เราจะได้นำไปปรับใช้กับต้นไม้ที่บ้านได้อย่างถูกวิธี
หลังจากเรียนรู้การตัดแต่งกิ่งไปเรียบร้อย เราก็มีโอกาสได้รู้จักกับอาชีพ ‘รุกขกร’ อีกหนึ่งอาชีพที่เชื่อว่าอาจไม่คุ้นหูของใครหลายคน แต่เป็นอาชีพที่สำคัญสำหรับเหล่าต้นไม้ใหญ่มากเพราะรุกขกรจะมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ใหญ่ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรืออาคารสถานที่ต่างๆ งานของรุกขกรก็มีตั้งแต่ งานปลูก งานตัดแต่ง งานค้ำจุน งานป้องกันต่างๆ รวมไปถึงงานโค่นต้นไม้เลย จุดนี้เราได้มีโอกาสลองขึ้นต้นไม้ใหญ่ในแบบรุกขกรดู บอกเลยว่าไม่ง่ายแถมต้องใช้ความกล้าอยู่พอตัว ใครกลัวความสูงมีหวังเป็นลมไปก่อนขึ้นแน่ๆ ทำให้เราเข้าใจเลยว่าคนที่จะทำอาชีพนี้ได้ ต้องมีความรักต้นไม้อยู่มากเลยทีเดียว
ก่อนจะจบทริปเรายังได้ฟังประสบการณ์และเรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ของอเล็กซ์ รวมถึงได้ข้อคิดเกี่ยวกับการมาเป็นอาสา TCP Spirit ในครั้งนี้ด้วย อเล็กซ์เล่าว่าจากประสบการณ์เรียนรู้ในฐานะ ‘หมอต้นไม้’ ของอเล็กซ์ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ด้านการดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี แต่ยังทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ผ่านเรื่องราวที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เงาไม้ รวมทั้งความคิดที่เปลี่ยนไปของเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองที่อยากมาฝากชีวิตไว้ในอนาคตด้วย และสิ่งที่อเล็กซ์เรียนรู้มาตลอดคือการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของสังคม ดังนั้นมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเราไม่ร่วมมือกัน
กิจกรรมสุดท้ายก่อนที่จะต้องแยกย้าย พวกเราอาสาสมัคร “TCP Spirit #2 หมอต้นไม้ เชียงใหม่” ทุกคนได้ช่วยกันออกแบบสร้างหมู่บ้านสีเขียวและไปนำเสนอให้ทุกคนได้ฟัง เราชอบกิจกรรมนี้ไม่แพ้กิจกรรมอื่นเลย เพราะได้เห็นถึงความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและอยากทำให้เมืองของตัวเองน่าอยู่ ร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ บางคนก็คิดถึงการนำพืชพรรณท้องถิ่นต่างๆ ที่มีอยู่มากในชุมชนมาใช้แปรรูปและสร้างรายได้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ต้นไม้ใหญ่นอกจากจะเป็นสิ่งที่สะท้อนสุขภาพของคนในเมืองแล้ว ยังสามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเมืองได้ดีอีกด้วย เพราะงั้นเราทุกคนก็ต้องร่วมมือร่วมใจเพื่อช่วยดูแลต้นไม้เหล่านั้นให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
จบทริปไปแบบแสนสุขใจที่เมืองเชียงใหม่ เมืองที่มากี่ครั้งก็รู้สึกดีจนบรรยายไม่หมด และการเดินทางครั้งนี้ก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพและรอยยิ้มจากอาสาทุกคนที่มีใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อช่วยและดูแลต้นไม้ใหญ่ให้อยู่คู่กับพวกเราไปนานๆ ได้เรียนรู้การดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธีเพื่อนำปรับใช้กับต้นไม้ในชุมชนของเรา สุดท้ายระหว่างนั่งรถไฟกลับเข้ากรุง เราก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในสังคมในการดูแลต้นไม้ใหญ่ให้เติบโตอย่างยังยืน เราเชื่อว่าวันนึงอาจมีหมอต้นไม้เพิ่มขึ้นในอีกหลายจังหวัดก็เป็นได้ และถ้ามีใครสักคนมาถามเราว่าควรปลูกต้นไม้วันไหนดี วันจันทร์ วันอังคาร หรือวันพุธดี เราจะตอบเค้าไปทันทีเลยว่า “ปลูกวันนี้แหละดีที่สุด”